จับตาบทบาท 14 นายทหาร
14 นายทหาร ทั้งนอกราชการและกำลังจะเกษียณอายุราช ใน ครม.ประยุทธ์ 3 ที่เข้ามารับหน้าที่กำกับดูแลใน 8 กระทรวงหลัก ทั้งกระทรวงกลาโหม มหาดไทย ยุติธรรม แรงงานศึกษาธิการ พลังงาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
อาจสะท้อนได้ว่าการปรับ ครม.ครั้งนี้ คงไม่ได้มุ่งตอบสนองกระแสเรียกร้องของประชาชน และปรับเปลี่ยนตามความเหมาะสม หลังรัฐบาลทำงานครบ 1ปี เท่านั้น แต่ยังแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลนี้ ยังมีความจำเป็นต้องมีทหารเป็นแกนนำขับเคลื่อน และประสานการทำงานที่เหนียวแน่น เชื่อมโยงระหว่างรัฐบาล กองทัพ และคสช.
นอกจากไม่ได้ปรับทหารคนใดออกจากความเป็นรัฐมนตรี จากครม.ประยุทธ์ 1 มาถึง ครม.ประยุทธ์ 3 แล้ว ยังเพิ่มทหารเป็นรัฐมนตรีใหม่อีก2 คน โดยรัฐมนตรีทหารชุดเดิม มีทั้งได้ดูแลกระทรวงเดิมต่อไป สลับกระทรวงตามความเหมาะสม และขยับขึ้นเป็นรองนายกรัฐมนตรี โดยเฉพาะอดีตผู้บัญชาการเหล่าทัพ ที่ได้ร่วมกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในเหตุการณ์ 22 พฤษภาคม 2557 ที่ยังคงอยู่ใน ครม.ชุดนี้
ส่วนรัฐมนตรีใหม่อีก 2 คน คือ พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล ปลัดกระทรวงกลาโหม ที่ได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และ พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษกองทัพบก เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน จะเกษียณอายุราชการพร้อมกันในเดือน ต.ค.
ทั้ง พล.อ.ศิริชัย และ พล.อ.อนันตพร ต่างก็ได้ช่วยงานรัฐบาลและคสช.มาตัั้งแต่หลังวันที่ 22 พ.ค. 2557 โดย พล.อ.ศิริชัย ได้รับมอบหมายให้ไปดูแลการจัดระเบียบแรงงานต่างด้าวตั้งแต่ต้น ขณะที่ พล.อ.อนันตพร ได้ทำหน้าที่หลายหน้าที่ โดยเฉพาะที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี และประธานคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.)
สะท้อนภาพความชัดเจนใน ครม.ประยุทธ์ 3 คือการปรับนายทหารออกจากกระทรวงด้านเศรษฐกิจ และกระทรวงที่รับภารกิจด้านต่างประเทศ ก็เพื่อเปลี่ยนให้บุคคลที่มีประสบการณ์โดยตรงเข้ามาบริหารและประสานงานขับเคลื่อนนโยบายแทน สอดคล้องกับที่นายกรัฐมนตรี หรือหัวหน้า คสช. ระบุไว้ว่า เพื่อดึงภาพลักษณ์ด้านความเชื่อมั่นและเศรษฐกิจของประเทศ