<"">
รองนายกรัฐมนตรีเสนอให้เอสเอ็มอีที่ยังไม่ได้เข้าระบบ เร่งเข้าระบบและทำบัญชีให้ถูกต้อง เพื่อจะได้ให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อมเข้ามาดำเนินการช่วยเหลือค้ำประกัน
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีของรัฐบาลที่พบว่ายังมีผู้ประกอบการอยู่นอกระบบภาษีจำนวนมาก รวมถึงเอสเอ็มอีที่อยู่ในระบบภาษีก็ยังเสียภาษีไม่ถูกต้องว่า ได้สั่งการให้สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และสภาหอการค้าไทยหาที่ปรึกษาและตั้งทีม เพื่อดำเนินการให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีมีระบบบัญชีอย่างถูกต้อง เพื่อที่จะได้นิรโทษกรรมเอสเอ็มอีที่อยู่นอกระบบ ให้มีบัญชีที่ถูกต้อง ก่อนจะนำไปหารือกับกระทรวงการคลังให้ดำเนินการช่วยเหลือต่อไป โดยจะมีหน่วยงานที่มาค้ำประกันสินเชื่อ บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.)
ทั้งนี้ ปัจจุบันมีผู้ประกอบการเอสเอ็มที่กู้เงินในระบบมีบัญชีอย่างถูกต้องมีประมาณ 600,000 - 700,000 ราย และประมาณ 461,000 ราย เป็นกลุ่มที่กู้เงินผ่านธนาคารพาณิชย์
นอกจากนี้ ได้มีการหารือเรื่องการจัดโซนนิ่งภาคการเกษตร โดยการเปลี่ยนจากการปลูกนาข้าวมาเป็นการปลูกอ้อย และมันสำปะหลัง ซึ่งหลังจากการสำรวจเพิ่มเติมพบว่ามีพื้นที่ที่สามารถปลูกพืชดังกล่าวได้กว่า 1,000,000 ไร่ จากเดิมที่มีอยู่ประมาณ 700,000 ไร่ แต่ต้องให้ทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ไปสำรวจอีกครั้งว่ามีพื้นที่ทั้งหมดที่ทำการสำรวจทับซ้อนกันหรือไม่ หากผู้ประกอบการที่ทำการเปลี่ยนจากการปลูกข้าวเป็นการปลูกอ้อย จะได้รับการทำสัญญากับโรงงานอ้อยโดยตรง เพื่อเป็นการรับประกันว่าอ้อยที่ปลูกจะผู้รับซื้อ
ขณะที่นายสุพันธ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ภาคเอกชนมีความเชื่อมั่นในการทำงานของภาครัฐบาล แม้กระทรวงพาณิชย์จะปรับเป้าการส่งออกให้ลดลงที่ร้อยละ 4 เพราะการส่งออกเป็นไปในทิศทางเดียวกับประเทศอื่นที่ประสบปัญหาจากเศรษฐกิจโลกอยู่ในภาวะชะลอตัว
ด้านนายนพพร เทพสิทธา ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า มั่นใจว่าภาครัฐยังสามารถดูแลค่าเงินในประเทศได้ เพราะล่าสุด คณะกรรมการนโยบายการเงินมีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงร้อยละ 0.25 และที่สำคัญ ประเทศไทยเป็นประเทศที่ใช้ระบบเสรีทางการเงิน ไม่สามารถใช้กฎที่เข้มงวดแบบประเทศเวียดนาม