วิกฤตอุทกภัยฉุดอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มทรุดหนัก คาดส่งออกหดเหลือ 3-5%
อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วม ในพื้นที่ภาคกลางที่ขยายวงกว้างในหลายจังหวัด เนื่องจากพื้นที่ภาคกลางที่ถูกน้ำท่วมอย่างหนัก ถือเป็นฐานการผลิตที่สำคัญอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มของไทย ซึ่งนอกจากจะส่งผลกระทบให้ผู้ประกอบการในพื้นที่ได้รับความเสียหายแล้ว ยังส่งผลกระทบในลักษณะลูกโซ่ ไปยังปริมาณการผลิตในอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่รับวัตถุดิบจากส่วนนี้ ทั้งกลางน้ำและปลายน้ำ พบว่า จำนวนโรงงานสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมในครั้งนี้ คิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 51.4 ของโรงงานทั้งหมดที่อยู่ในอุตสาหกรรม ส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยเป็นผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเครื่องนุ่มห่มมากที่สุด รองลงมาคือ ปั่นด้าย ทอผ้า และเคหะสิ่งทอ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีความเห็นว่า จากการที่โรงงานสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ที่ยังต้องเผชิญอยู่กับปัญหาสถานการณ์น้ำท่วมที่แผ่ขยายผลกระทบเป็นวงกว้าง อาจส่งผลอย่างชัดเจนต่อมูลค่าการส่งออกในไตรมาส 4 ปี 2554 ซึ่งเป็นช่วงฤดูกาลขายสินค้าที่จะมีคำสั่งซื้อเข้ามาเป็นจำนวนมาก เพื่อใช้ในไตรมาสต่อไป ต่ำกว่าประมาณการณ์ไว้ และทวีความรุนแรงในตลาดส่งออกมากขึ้น เพราะนอกจากการผลิตภายในประเทศที่หยุดชะงัก จะทำให้ไทยสูญเสียความสามารถในการผลิตและการส่งออกแล้ว อีกสิ่งที่น่ากังวลสำหรับผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ คือ ประเทศคู่ค้าอาจจะย้ายคำสั่งซื้อสินค้าไปให้กับคู่แข่ง ในแถบภูมิภาคเดียวกันอย่าง อินโดนีเซีย เวียดนาม ที่สามารถผลิตสินค้าได้ทัดเทียม และส่งมอบสินค้าให้คู่ค้าทั่วโลกได้เช่นเดียวกับไทย ทำให้สามารถแย่งชิงโอกาสในช่วงเวลาที่สำคัญนี้ไป ส่งผลให้มูลค่าการส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มของไทยตลอดปี 2554 อาจจะขยายตัวเพียงร้อยละ 3.0-5.0 หรือมีมูลค่าประมาณ 7,900-8,100 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เทียบกับที่เติบโตที่ร้อยละ 19.1 ในปี 2553
โดยกลุ่มที่ได้รับผลกระทบหนัก คาดว่าจะอยู่ในกลุ่มของเสื้อผ้าสำเร็จรูป รวมไปถึงเส้นด้ายและเส้นใย อย่างไรก็ดี สำหรับแนวโน้มในช่วงครึ่งแรกของปี 2555 นั้น คาดว่า ปริมาณการผลิต รวมไปถึงมูลค่าการส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม น่าจะกลับมาฟื้นตัวในไตรมาส 1-2 ของปี 2555 ได้ ภายหลังจากการฟื้นฟูโรงงานที่ได้รับความเสียหาย ให้กลับมาผลิตและส่งออกได้อีกครั้ง แต่หากจำเป็นต้องใช้ระยะเวลาฟื้นฟูนาน ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมต่อเนื่อง อาจจะต้องพึ่งพาแหล่งผลิตอื่นๆ หรือการนำเข้าเป็นทางเลือกเพิ่มมากขึ้น
ประเด็นที่ต้องติดตามในระยะต่อไป คือ สถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่กรุงเทพฯ ทางฝั่งตะวันตก ต่อเนื่องไปยังจังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งเป็นทางไหลผ่านของน้ำก่อนลงสู่ทะเล ซึ่งโดยส่วนใหญ่เป็นฐานการผลิตของผู้ประกอบการสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ในส่วนของกลางน้ำและปลายน้ำ ซึ่งเป็นโรงงานขนาดใหญ่ อาทิ โรงงานฟอกย้อม ทอผ้า และเครื่องนุ่งห่ม เป็นต้น ซึ่งอาจจะส่งผลให้จำนวนผู้ประกอบการอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบเพิ่มมากขึ้น ทำให้กำลังการผลิตในอุตสาหกรรมลดลง เป็นปัจจัยซ้ำเติมฉุดให้ภาคการส่งออกของอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มทรุดหนักลงจากเดิมกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
นอกจากนี้ หนึ่งในผลกระทบทางเศรษฐกิจที่ยากจะประเมินออกมาเป็นตัวเลขได้ นั่นคือ การสูญเสียโอกาสและความสามารถในการแข่งขันในอุตสาหกรรม ทั้งนี้ กำลังการผลิตที่สูญเสียไปและระยะเวลาในการฟื้นฟูโรงงานให้กลับมาผลิตได้ใหม่อีกครั้ง นั่นหมายถึง โอกาสที่คู่แข่งจะสามารถช่วงชิงคำสั่งซื้อจากคู่ค้าได้มากขึ้น โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่มีการแข่งขันสูงอย่างอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม