นักออกแบบเยอรมันคิดค้นผ้าทอจากนม
หากดูด้วยตา ชุดที่นางแบบสวมใส่อาจไม่มีอะไรโดดเด่นมากนัก เพราะความพิเศษของชุดนี้ไม่ได้อยู่ที่การออกแบบ แต่คือเนื้อผ้าที่ทอจากน้ำนม เทคโนโลยีใหม่ของโลกแฟชั่น จากฝีมือของอันเคอร์ โดมัสเคอร์ นักชีวเคมีสาวชาวเยอรมันที่สนใจศาสตร์แห่งการออกแบบเสื้อผ้า สิ่งทอจากนมสดในชื่อคูว์มิลช์ มีทั้งคุณสมบัติรักษาความชุ่มชื้นให้ผิว รวมทั้งคงทนเหมือนผ้าฝ้าย ที่สำคัญคือเนื้อผ้าอ่อนโยนต่อผิว และใช้ทรัพยากรในกระบวนการผลิตน้อยกว่าเนื้อผ้าธรรมดามาก
โดมัสเคอร์ วัย 28 ปีเริ่มค้นคว้าโดยมีจุดมุ่งหมายแรกอยู่ที่การหาเนื้อผ้าสำหรับผิวแพ้ง่ายให้ห้องเสื้อที่เธอทำงานอยู่ โดยต่อยอดความรู้การผลิตสิ่งทอจากนมที่มีมาก่อนตั้งแต่ยุค 30 หลังจากลองผิดลองถูกมากว่า 2 ปี ทีมวิจัยจึงค้นพบผ้าที่ได้จากวัตถุดิบธรรมชาติทุกขั้นตอนด้วยการนำโปรตีนเคซีนในนมมาต้มแล้วจึงรีดเอาเส้นใย ทำได้ทั้งผ้านุ่ม และผ้าหนา ตลอดจนซัก และรีดได้ อันเป็นคุณสมบัติสำคัญของเนื้อผ้าที่นำมาใช้งานได้จริง
แม้ต้องแลกกับต้นทุนราคาแพง แต่กระบวนการผลิตของคูว์มิลช์ ก็ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่การรีไซเคิลนมคุณภาพไม่ถึงมาตรฐานการบริโภคซึ่งต้องถูกกำจัดทิ้งปริมาณมากในแต่ละวัน จนถึงการประหยัดน้ำ เพราะใช้น้ำเพียง 2 ลิตรต่อการผลิตเส้นใยจากนม 1 กิโลกรัม ในขณะที่ผ้าฝ้ายใช้น้ำเป็น 10,000 ลิตรต่อจำนวนเดียวกัน ทำให้ผลงานนี้คว้ารางวัลนวัตกรรมยอดเยี่ยมจากสมาคมวิจัยสิ่งทอเยอรมัน จากความแปลกใหม่และวิธีการผลิตแบบยั่งยืนให้อุตสาหกรรมเสื้อผ้า
เคลาส เยนเซ่น หัวหน้าสมาคมวิจัยสิ่งทอเยอรมัน กล่าวว่า เสื้อผ้าของเยอรมันต้องเผชิญกับการแข่งขันกับแฟชั่นทั่วโลก สิ่งที่จะเอาชนะได้จึงไม่ใช่แค่ความคิดสร้างสรรค์ แต่ผลิตภัณฑ์ก็ต้องแปลกใหม่ด้วย ผ้าทอน้ำนมคูว์มิลช์ได้รับความสนใจจากทั้งวงการแพทย์ที่สนใจคุณสมบัติไม่ก่อให้เกิดอาการแพ้ เช่นเดียวกับฟาร์มจากบราซิล และออสเตรเลีย ที่เห็นช่องทางการขายนมแทนที่ต้องเททิ้งทุกวัน