วันนี้ (27 ส.ค.2558) นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ กล่าวในงานบรรยายพิเศษเรื่อง "นโยบายเศรษฐกิจและทิศทางประเทศไทย" โดยระบุว่า สถานการณ์ดังกล่าวจะไม่นำไปสู่วิกฤตเศรษฐกิจเหมือนปี 2540 แต่ภาวะซบเซาที่เกิดขึ้นเป็นผลจากกำลังซื้อถดถอยเพราะขาดความเชื่อมั่น โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อย หากปล่อยให้สถานการณ์เป็นเช่นนี้อาจกระทบเศรษฐกิจระดับบนจึงเตรียมออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระดับฐานราก รวมทั้งผู้ประกอบการเอสเอ็มอี หากสามารถฟื้นความเชื่อมั่นระยะสั้นกลับมาได้จะเร่งปรับปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจไทย โดยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนและลดพึ่งพาต่างประเทศ
ทั้งโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่น ผ่านกลไกผู้ว่าราชการจังหวัด เช่น ฟื้นโครงการ 1 ตำบล 1 ผลิตภัณฑ์ (โอท็อป) และจูงใจให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนเพิ่มขึ้นหลังเตรียมจัดเขตเศรษฐกิจพิเศษเฉพาะสินค้า เช่น เขตเศรษฐกิจสำหรับยางพารา จัดกลุ่มอุตสาหกรรม หรือ คลัสเตอร์ แนวใหม่ สร้างนักรบเศรษฐกิจใหม่ สนับสนุนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานแบบร่วมภาครัฐและเอกชน(PPP) ตลอดจนปฏิรูประบบงบประมาณและการศึกษา โดยไม่มุ่งหวังสร้างตัวเลขทางเศรษฐกิจเหมือนในอดีต
นอกจากนี้ตัวแทนเอกชน ทั้งจากหอการค้าไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย ผลัดกันเสนอความเห็นให้รัฐบาลพิจารณา เช่น การปรับปรุงโครงสร้างภาษีผู้ประกอบการเอสเอ็มอี การลงทุนโครงการบริหารจัดการน้ำเพื่อการเกษตร และระบบการเงินให้สอดคล้องกับเศรษฐกิจดิจิทัล โดยไม่ได้กำหนดกรอบเวลาทำงานของทีมเศรษฐกิจแต่ขอให้ผลักดันนโยบายออกมาให้เห็นผลเป็นรูปธรรมโดยเร็ว
ขณะที่ศาสตราจารย์ ดิเรก ปัทมสิริวัฒน์ อาจารย์ประจำคณะพัฒนาการเศรษฐกิจสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์(นิด้า) เสนอให้รัฐบาลการจ้างงานผ่านองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เช่น การขุดลอกคูคลอง เพราะจะทำให้เงินถึงมือประชาชนได้เร็วกว่าการใช้กองทุนหมู่บ้าน เพราะโครงการกองทุนหมู่บ้านในอดีต ผู้กู้นำเงินไปใช้แบบไม่จ่ายแบบไร้ประโยชน์