กยน.เตรียมพิจารณา 4 มาตรการแก้ไขน้ำท่วม ระยะสั้น 7 ธ.ค.นี้
อนุกรรมการด้านการวางแผนและกำหนดมาตรการแก้ปัญหาระยะสั้นของคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการวางระบบการบริหารจัดการน้ำ หรือ กยน. เตรียมเสนอผลสรุปการประชุมเกี่ยวกับการดำเนินการแก้ไขปัญหาระยะสั้น 4 มาตรการให้ กยน.ชุดใหญ่พิจารณาในวันที่ 7 ธันวาคมนี้
นายปิติพงษ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการด้านการวางแผนและกำหนดมาตรการแก้ปัญหาระยะสั้น ของ คณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ หรือ กยน. เปิดเผยว่า ที่ประชุมได้กำหนดกรอบมาตรการเพื่อดำเนินการระยะสั้น 4 มาตรการ ประกอบด้วย
1.การบริหารจัดการน้ำโดยเริ่มจากการบริหารน้ำเขื่อนโดยตรง โดยจะไม่คำนึงเฉพาะการชลประทานเพียงอย่างเดียว แต่คำนึงถึงการป้องกันน้ำท่วมควบคู่ไปด้วย
2.การพิจารณาในการป้องกันน้ำท่วมในส่วนของโครงสร้างพื้นฐานกลางทาง เช่น ประตูระบายน้ำ คันกั้นน้ำ คลองระบายน้ำ ที่ต้องเร่งซ่อมแซมให้แล้วเสร็จภายใน 3-4 เดือนนี้ เพื่อรองรับฤดูฝนช่วงเดือนพฤษภาคมปีหน้า
3.การพิจารณาการช่วยเหลือชดเชยพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซาก เช่น พื้นที่การเกษตร ที่เป็นพื้นที่แก้มลิง และเป็นพื้นที่รับน้ำโดยธรรมชาติ
4.การเร่งแก้ปัญหาการระบายน้ำในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ทั้งฝั่งตะวันออกและตะวันตกให้สามารถระบายน้ำไปสู่ที่สูบน้ำออกได้ โดยเฉพาะในส่วนของคูคลองที่มีปริมาณขยะจำนวนมากและการบุกรุก ซึ่งกรมชลประทาน กรุงเทพมหานคร และหน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่นต้องเร่งแก้ไขด่วน
ส่วนเรื่องการเสริมคันกั้นน้ำการออกแบบคันกั้นให้เป็นประโยชน์ เพื่อควบคุมระบบน้ำ ด้านวิศวกรรม จะดำเนินการในช่วง 4-6 เดือน ขณะที่การบริหารจัดการต้องปรับการให้ข้อมูลเป็นระเบียบมากขึ้น โดยเฉพาะต้องคำนึงถึงสิ่งต่างๆ ให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันและสามารถเดินหน้าต่อไปได้พร้อมกับการปรับระบบเตือนภัยในพื้นที่ที่น้ำจะต้องเดินทางไปและระดับน้ำที่จะท่วมขังให้ดีขึ้น
นอกจากนี้ต้องดูกลไกการทำงานที่ต้องปฏิบัติได้ทันที เช่น การทำงานเป็นหน่วยงานเดียวให้เป็นระบบงานเดียว เพื่อเป็นองค์กรที่ต้องตัดสินใจได้สำเร็จ ซึ่งในวันที่ 1 ธันวาคมนี้ จะประชุมคณะอนุกรรมการชุดนี้อีกครั้ง เพื่อดูรายละเอียดก่อนเสนอต่อคณะกรรมการ กยน. ชุดใหญ่ ในวันที่ 7 ธันวาคมนี้
นายปิติพงษ์กล่าวด้วยว่า การแก้ปัญหาการระบายน้ำของพื้นที่กรุงเทพมหานครในระยะสั้นต้องดูใน 3 เรื่อง คือ 1.การทำให้น้ำเดินทางไปถึงอุโมงค์ยักษ์ 2.การแก้ปัญหาระบบปั๊มน้ำของกรุงเทพมหานครที่มีการสร้างไว้เพื่อป้องกันน้ำฝนที่ต้องมีการปรับใหม่ 3.การจัดระบบคูคลองที่ถูกบุกรุกจำนวนมาก และ บางช่วงตื้นเขิน