ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ปชป.-เพื่อไทย-ทีดีอาร์ไอ เตือน "กองทุนหมู่บ้าน" ทำหนี้ครัวเรือนพุ่ง-กระตุ้นศก.ไม่ได้

เศรษฐกิจ
1 ก.ย. 58
16:13
122
Logo Thai PBS
ปชป.-เพื่อไทย-ทีดีอาร์ไอ เตือน "กองทุนหมู่บ้าน" ทำหนี้ครัวเรือนพุ่ง-กระตุ้นศก.ไม่ได้

แม้จะยอมรับว่ามีความจำเป็นอย่างยิ่งที่รัฐบาลต้องกระตุ้นเศรษฐกิจในเวลานี้ แต่ฝ่ายเศรษฐกิจจากสองพรรคการเมืองไม่เห็นด้วยกับรายละเอียดของมาตรการที่เพิ่งผ่านความเห็นชอบ จาก ครม. ขณะที่นักวิชาการเกียรติคุณสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย เตือนรัฐบาลให้ระมัดระวังภาวะหนี้ครัวเรือนที่อาจสูงขึ้น จากโครงการกองทุนหมู่บ้าน

อัมมาร์ สยามวาลา นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) มองว่านโยบายกองทุนหมู่บ้านงบประมาณ 6 หมื่นล้านบาทเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้นของรัฐบาลที่เป็นข้อเสนอของนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีจะไม่สามารถช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ แต่เป็นการเพิ่มภาระหนี้ครัวเรือนให้มากขึ้น

"ผมเพียงแต่ชี้ให้เห็นว่า ถ้าคุณหวังผลประโยชน์ว่ามันจะกระตุ้นเศรษฐกิจ มันไม่น่าจะเกิดขึ้น เพราะเขาบอกแล้วว่ามีหนี้สินมากอยู่แล้ว สิ่งที่เขาอยากจะทำก็คือการเอาเงินจำนวนนี้ไปชำระหนี้สินเก่า แต่รัฐบาลก็บอกว่าห้ามไปรีไฟแนนซ์ ก็เลยงงว่าไม่รู้จะทำอะไร" นายอัมมาร์กล่าว
 
นักวิชาการเกียรติคุณทีดีอาร์ไอ ยังเสนอให้รัฐบาลหันมาลงทุนโครงการต่างๆ เอง และสำคัญที่สุดคือควรเร่งรัดโครงการที่ยังค้างท่ออยู่ ให้ได้รับการผลักดันมาสู่การปฏิบัติโดยเร็ว

นายพิชัย นริพทะพันธุ์ คณะทำงานเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน มองว่าจำนวนเงินกระตุ้นเศรษฐกิจ 1.3 แสนล้านบาท น้อยเกินไป โดยเฉพาะกองทุนหมู่บ้านที่ประชาชนได้รับเงินโดยตรง แต่กลับมีเงื่อนไขห้ามรีไฟแนนซ์

"พอรัฐบาลบอกว่าห้ามเอาเงินไปใช้หนี้ ก็เลยไม่รู้ว่าจะช่วยประชาชนได้อย่างไร แล้วความเดือดร้อนจากหนี้ของเขาที่มีอยู่เยอะ จะแก้อย่างไร แต่เดิมเราเคยมีการแก้ปัญหาโดยการหยุดพักชำระหนี้แล้วหารายได้เพิ่มเติมเข้าไป อยากฝากให้รัฐบาลคิดเรื่องการหารายได้ด้วย เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจโดยรวมยังแย่ การหารายได้จะทำได้อย่างไร" นายพิชัยกล่าว

ส่วนนายกรณ์ จาติกวณิช รองหัวพรรคประชาธิปัตย์และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังยอมรับว่าหลักการของมาตรการเศรษฐกิจที่ออกมาเหมาะสม แต่หากจ่ายเงินให้ประชาชนโดยตรงจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ดีกว่า

"ถ้าเรามองว่าประชาชนเดือดร้อน ผมคงไม่อยากที่จะเพิ่มภาระหนี้ให้ประชาชน เพื่อให้พวกเขามากระตุ้นเศรษฐกิจให้รัฐบาล ถ้าจะให้ก็ให้ไปเลย แต่ต้องมีหลักเกณฑ์ว่าผู้รับจะต้องเป็นผู้ที่เดือดร้อนจริงๆ เท่านั้น ซึ่งถ้าเปรียบเทียบกับนโยบายในอดีตในลักษณะนี้ก็เช่น "เช็คช่วยชาติ" และนโยบายประกันรายได้ เป็นต้น คือใครที่มีรายได้ต่ำกว่าเกณฑ์ รัฐบาลก็สมทบรายได้ให้เขา เป็นการให้ ไม่ใช่เป็นการเพิ่มภาระ" นายกรณ์แสดงความเห็น

ทั้งสองคนเห็นตรงกันว่าขณะนี้เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยย่ำแย่ ขณะเดียวกันไม่มีปัจจัยใดที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ ขณะที่ความสามารถในการแข่งขันของไทยอยู่ในระดับต่ำ ดังนั้น อาจทำให้มาตรการรัฐบาลที่ออกมาไม่เกิดผลมากนัก

อย่างไรก็ตามนายสมคิดย้ำว่ารัฐบาลจะติดตามการใช้เงินให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์และโปร่งใส

"สิ่งที่ให้ไปนั้น ท่านนายกฯ ได้กำชับว่าจะต้องไม่นำไปใช้ผิดประเภท เงินที่ให้กับชาวบ้านในช่วงเวลาที่เขาลำบากกันมากๆ ถ้าเขาไม่มีเงินจำนวนนี้เขาจะอยู่กันได้ยาก เป็นเงินที่จะให้เขาเพื่อให้สร้างตัวขึ้นมาใหม่เพื่อให้รอดพ้นจากช่วงเวลาอย่างนี้ ไม่ได้ให้นำไปใช้ฟุ่มเฟือย เพราะฉะนั้นแม้ว่ามันจะทำให้ household debt (หนี้ครัวเรือน) เพิ่มขึ้นมาก็จริง แต่ก็สามารถสร้างรายได้ต่อไปในอนาคต" นายสมคิดกล่าว

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง