"ซูจี" ยินดีสหรัฐฯ กลับมามีปฏิสัมพันธ์กับพม่า

ต่างประเทศ
2 ธ.ค. 54
14:02
18
Logo Thai PBS
"ซูจี" ยินดีสหรัฐฯ กลับมามีปฏิสัมพันธ์กับพม่า

นางออง ซาน ซูจี แสดงความยินดีที่สหรัฐฯ กลับมามีปฏิสัมพันธ์กับพม่า พร้อมแสดงความหวังว่าจะช่วยกระตุ้นให้พม่าเดินหน้าสู่ความเป็นประชาธิปไตยอย่างสมบูรณ์

นางออง ซาน ซูจี ต้อนรับนางฮิลลารี คลินตัน รมว.ต่างประเทศของสหรัฐฯ ที่เดินทางมาที่บ้านพักริมทะเลสาบอินเลในนครย่างกุ้ง เพื่อร่วมหารืออย่างเป็นทางการระหว่างการเยือนพม่าครั้งประวัติศาสตร์ในวันสุดท้าย โดยนางซูจีแสดงความยินดีที่สหรัฐฯ กลับเข้ามามีปฏิสัมพันธ์กับพม่าอีกครั้ง แต่ก็ให้ความเห็นว่า ก่อนที่จะตัดสินใจเดินหน้าความสัมพันธ์ในทางใด จำเป็นจะต้องพิจารณาถึงความจำเป็นเร่งด่วนเป็นอันดับแรกเสียก่อน

"ความจำเป็นเร่งด่วนคือการเดินหน้าด้านกฎหมายพลเรือนที่หยุดชะงักไป รวมทั้งต้องยุติความขัดแย้งในประเทศให้ได้" นางซูจีกล่าว

นอกจากนี้นางซูจียังมองว่า การเดินทางเยือนครั้งนี้ของ รมว.ต่างประเทศของสหรัฐฯ ถือเป็นการเยือนครั้งประวัติศาสตร์ และหวังว่า หากพม่าและสหรัฐฯ ร่วมมือกัน พม่าจะสามารถปฏิรูปประเทศสู่ประชาธิปไตยได้แน่นอน

ด้านนางคลินตันยืนยันว่า เป้าหมายคือการสร้างประชาธิปไตยในพม่าอย่างแท้จริง

"เป้าหมายที่มีมาตั้งแต่ต้นคือประชาธิปไตย ซึ่งเป็นหนทางที่ยากลำบาก แต่ก็ได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว" นางคลินตันกล่าว

นางคลินตันและนางซูจีหารือกันนานร่วมชั่วโมงครึ่ง ก่อนจะออกมาให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน โดยมีรายงานว่า การหารือครั้งนี้ไม่ได้หยิบยกเรื่องการคว่ำบาตรพม่ามาพูดถึง

นอกจากหารือกับนางซูจีแล้ว วันนี้ (2 ธ.ค.) รมว.ต่างประเทศของสหรัฐฯ ยังได้หารือกับตัวแทนกลุ่มชาติพันธุ์ในพม่าที่นครย่างกุ้งด้วย

เมื่อคืนนี้ (1 ธ.ค.) รมว.ต่างประเทศของสหรัฐฯ รับประทานอาหารค่ำร่วมกับนางซูจี และได้สรุปผลการหารือกับ พล.อ.เต็ง เส่ง ประธานาธิบดีของพม่า รวมทั้งความตั้งใจ ทั้งแนวทางของรัฐบาลพม่าในการปฏิรูปการเมืองและเศรษฐกิจ ให้นางซูจีรับทราบ พร้อมทั้งมอบจดหมายของนายบารัก โอบามา ประธานาธิบดีของสหรัฐฯ ให้นางซูจี ทั้งนี้ เนื้อความแสดงความชื่นชมที่นางซูจีเป็นแรงบันดาลใจผู้คนทั่วโลก และยืนยันว่า สหรัฐฯ จะอยู่เคียงข้างนางซูจีนับจากนี้และตลอดไป

ด้านนักวิเคราะห์มองว่า หากสหรัฐฯ จะยกระดับความสัมพันธ์กับพม่าจริง ก็ต้องได้รับการยอมรับจากนางซูจีก่อน เนื่องจากนางซูจีเป็นผู้ทรงอิทธิพลที่บรรดาล็อบบี้ยิสต์และกลุ่มการเมืองในสหรัฐฯ ให้ความนับถือ ซึ่งหากนางซูจีเห็นด้วยกับการฟื้นความสัมพันธ์กับรัฐบาลพม่า ก็จะส่งผลดี และยังเสริมคะแนนให้กับผู้นำสหรัฐฯ ที่เคยประกาศนโยบายจะเข้าไปสร้างปฏิสัมพันธ์กับชาติที่มีแนวคิดไม่ตรงกัน


ข่าวที่เกี่ยวข้อง