“คลองกลาย” นครศรีฯ จากบทเรียนสู่ความร่วมมือของชุมชนในการรับมือภัยพิบัติ

7 ธ.ค. 54
15:44
26
Logo Thai PBS
“คลองกลาย” นครศรีฯ จากบทเรียนสู่ความร่วมมือของชุมชนในการรับมือภัยพิบัติ

นักข่าวพลเมืองเยาวชนคนยุวทัศน์ อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช รายงาน

ช่วงต้นปีนี้ ได้เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในจังหวัดนครศรีธรรมราชค่ะ ชาวบ้านที่บ้านคลองกลาย อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากทั้งบ้านเรือนเสียหาย ลำคลองเปลี่ยนทิศทาง ทำให้ช่วงฤดูมรสุมขณะนี้ชาวบ้านริมฝั่งบางส่วนปรับตัว เตรียมการเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดและนำบทเรียนครั้งที่ผ่านมาปรับใช้ 

ราตรี เซ่งปุ่น ชาวตำบลกลาย อำเภอท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช  เล่าให้ฟังว่า ตั้งแต่อยู่มาน้ำ ไม่ท่วมเลย  เพิ่งเคยเห็นต้นปีนี้  ตอนนี้คลองมันเปลี่ยนทิศทางหลังจากน้ำท่วมเมื่อต้นปี ที่ดินและสวนยางพาราของป้าหายไปกว่าหนึ่งไร่ ตรงนี้ยังทำอะไรไม่ได้

“กลางคลองนั้นคือแต่ก่อนมันไม่ได้อยู่ตรงนี้  มันอยู่ตรงนั้นน แต่ทีนี้พอน้ำมันเปลี่ยนทิศทางก็เลยหักมาทางนี้ แต่ทางนี้ยังน้อยนะถ้าเป็นของป้าจะเยอะกว่านี้   ไม่ใช่น้ำป่า ทีแรกคือ ไม่เคยเห็นเลย แต่วันนั้นประมาณช่วงห้าโมงหกโมง น้ำมาจากไหนไม่รู้ ตูมเดียวถึงหลังคาเลย ทีนี้ของที่อยู่ข้างนอกเราเก็บไม่ทันเลย ไม่แน่ใจว่ามันเป็นจากผลกระทบนี้ไหมนะ แต่ว่าคงใช่ เพราะว่าตายหมดเลย ของป้าจะดายเรียบ ไม่มีเหลือต้นเดียว “

คลองกลาย เป็นคลองที่ใช้ทำสวนและเป็นคลองระบายน้ำจากเทือกเขาหลวงลงสู่ทะเล แต่วันนี้กระแสน้ำของคลองสายนี้ได้เปลี่ยนไป ตั้งแต่เกิดน้ำท่วมใหญ่เมื่อต้นปีที่ผ่านมา พร้อมๆกับวิถีชีวิตบางส่วนของชาวบ้านริมฝั่งคลองก็ต้องปรับเปลี่ยนไปด้วย

ในขณะที่ พิสุทธา หนูสาย  ก็เป็นอีกคนที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมเมื่อต้นปีที่ผ่านมา แต่เธอเลือกที่จะอยู่ที่นี่ต่อกับเพื่อนบ้าน เพราะทั้งหมดเห็นว่าเป็นที่ทำมาหากินมานานแล้วและไม่อยากไปเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง

“แต่ก่อนตลิ่งไม่สูงแต่ตอนนี้ตลิ่งสูงขึ้น กินที่ชาวบ้านเข้ามา เพราะมีการดูดทรายด้วย พอน้ำมา ทำให้เส้นทางน้ำเปลี่ยนไป น้ำท่วมทำให้เรามีบทเรียนมากมาย เช่น รู้ว่าต้องประหยัดรายจ่าย ปลูกผักเลี้ยงไก่ ที่เหลือเก็บขาย เครื่องใช้ไฟฟ้าก็มีเท่าที่จำเป็น  รู้จักเตรียมตัว ประเมินชีวิตของเรา”

บทเรียนที่ผ่านมา  ถูกนำมาเป็นแนวทางแก้ไขปัญหาและรับมือหากเกิดเหตุการณ์ภัยธรรมชาติ  นอกจากการปรับตัวในการดำรงชีวิตแล้ว ยังมีการเตรียมเฝ้าระวังภัยพิบัติ ผ่านการสังเกตปริมาณน้ำฝนที่ตกติดต่อกันเกิน 3 วัน และติดตามวิทยุสื่อสารเพื่อจะได้รับมือกับสถานการณ์ทันและเตือนไปยังเพื่อนบ้านคนอื่นๆได้

 “ถ้าน้ำมา แถวบ้านพี่มีวิทยุแจ้งจากเขาหลวง เพื่อให้เราเตรียมตัว  เราก็เตรียมตัวพร้อมเสมอถ้าฝนตกน้ำมา  จะแจ้งว่าจะมาตอนไหน เราก็เก็บของข้นที่สูง เด็กพาไปไว้บ้านญาติ คนแก่ด้วย รถก็ย้ายขึ้นไว้บนที่ปลอดภัย”

การเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติ เป็นสิ่งที่ชาวบ้านเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมมาอย่างต่อเนื่อง แต่หากการเปลี่ยนแปลงนั้นถูกทำให้รุนแรงมากขึ้น ก็คงหนีไม่พ้นเรื่องการสูญเสีย สิ่งสำคัญคือ การร่วมมือกันหาทางแก้ปัญหาให้สูญเสียน้อยที่สุด และก็ยังคงใช้วิถีชีวิตแบบเดิมต่อไป เพราะชาวบ้านรักที่จะอยู่ถิ่นฐานบ้านเกิดของตนเอง
 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง