ศาลสืบนัดสุดท้ายพยานคดีกลุ่มชุมนุมท่อส่งก๊าซฯ ฟ้อง
ศาลจังหวัดสงขลาสืบนัดสุดท้ายพยานคดีกลุ่มชุมนุมท่อส่งก๊าซและโรงแยกก๊าซไทย-มาเลเซียฟ้อง พล.ต.อ.สันต์ ศรุตานนท์ โดยจะตัดสินคดีในวันที่ 27 พ.ย.2558 เวลา 10.00 น.
วันนี้ (18 ก.ย.2558) ศาลจังหวัดสงขลานัดสืบพยานคดีหมายเลขดำที่ 1818/2546 ความอาญา ศาลจังหวัดสงขลา ระหวางนายสักกริยา หมะหวังเอียด โจทก์ที่ 1 กับพวกรวม 25 คน, พล.ต.อ.สันต์ ศรุตานนท์ จำเลยที่ 1 กับพวกรวม 38 คน ในคดีการสลายการชุมนุมท่อส่งก๊าซและโรงแยกก๊าซธรรมชาติไทย-มาเลเซีย เมื่อวันที่ 20 ธ.ค.2545 ซึ่งจะมีการวันสืบพยานวันสุดท้าย โดยเป็นการสืบพยานจำเลย คือนายวันมูฮัมหมัด นอร์มะทา อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (ในขณะเกิดเหตุ)
สำหรับเหตุคดีนี้เกิดเมื่อวันที่ 20 ธ.ค.2545 กลุ่มผู้คัดค้านโครงการท่อส่งก๊าซและโรงแยกก๊าซธรรมชาติไทย-มาเลเซีย ได้เดินทางจาก อ.จะนะ จ.สงขลา ไป อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา เพื่อรอยื่นหนังสือในวันที่ 21 ธ.ค.2545 ต่อ นายทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น โดยรัฐบาลได้กำหนดให้มีการประชุม ครม.สัญจร ที่โรงแรม เจ.บี.หาดใหญ่ ในวันที่ 21 และ 22 ธ.ค.2545 แต่ปรากฏว่าเมื่อกลุ่มผู้คัดค้านเดินทางมาถึงถนนจุติอนุสรณ์ ทางเข้าโรงแรม เจ.บี. เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ปิดกั้นทางเข้าด้วยแผงเหล็กและระหว่างรอการเจรจากลุ่มผู้คัดค้านได้ถูกสลายการชุมนุมโดยกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจในเวลาประมาณ 20.00 น.
จากการสลายการชุมนุมดังกล่าวได้มีการจับกุมเจ้าหน้าที่องค์กรพัฒนาเอกชน (NGOs) รวม 12 คน ในที่เกิดเหตุ และมีการออกหมายจับชาวบ้านและนักศึกษาอีก 20 คน และถูกจับกุมและถูกดำเนินคดีในเวลาต่อมาในข้อหาถึง 7 ข้อหา ซึ่งเกี่ยวกับการชุมนุมโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย สั่งให้เลิกชุมนุมแล้วไม่เลิก ทำร้ายร่างกายเจ้าพนักงาน ทำลายทรัพย์สินราชการฯลฯ โดยได้มีการฟ้องคดีทั้งหมด 2 คดี เนื่องจากแยกกลุ่มผู้ถูกดำเนินคดี ซึ่งทั้ง 2 คดีดังกล่าว ศาลชั้นต้น และศาลอุทธรณ์ได้มีคำพิพากษายกฟ้องทั้ง 2 คดี โดยขณะนี้อยู่ระหว่างรอฟังคำพิพากษาศาลฎีกา
นอกจากมีการจับกุมแล้ว กลุ่มผู้ชุมนุมยังได้รับบาดเจ็บ รถยนต์ และทรัพย์สินของผู้ชุมนุมได้รับความเสียหาย หลังจากถูกสลายการชุมชน กลุ่มผู้ชุมนุมจึงได้ฟ้องคดีเกี่ยวกับการสลายการชุมนุมรวม 3 คดี ได้แก่ 1. ฟ้องสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ต่อศาลปกครองสงขลา เพื่อเรียกค่าเสียหายจากการไม่ได้ใช้เสรีภาพในการชุมนุม ซึ่งศาลปกครองสูงสุดได้พิพากษาแล้วให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติชดใช้ค่าสูญเสียเสรีภาพจากการชุมนุมเป็นเงิน 100.,000 บาท
2. ฟ้องสำนักงานตำรวจแห่งชาติต่อศาลแขวงสงขลา เพื่อเรียกค่าเสียหายจากการที่ถูกทำร้ายร่างกายและทำลายทรัพย์สิน คดีอยู่ระหว่างรอพิพากษา โดยศาลให้จำหน่ายคดีชั่วคราวเพื่อรอผลคดีอาญาที่ผู้ชุมนุมฟ้องเจ้าหน้าที่ตำรวจ (คดีที่ 3)
3. ฟ้องเจ้าหน้าที่ตำรวจผู้สั่งการสลายการชุมนุม และเจ้าหน้าที่ตำรวจผู้ปฏิบัติการสลายการชุมนุม ซึ่งคดีนี้ NGOs และชาวบ้าน ผู้ชุมนุม ได้ฟ้องเจ้าหน้าที่ตำรวจในข้อหาปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบ และทำร้ายร่างกาย โดยฟ้องเอง ซึ่งในศาลชั้นต้นรับฟ้องเฉพาะ พล.ต.ต.สัณฐาน ชยนนท์ ผู้บังคับการตำรวจภูธร จ.สงขลา (ในขณะนั้น) แต่โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งรับฟ้องเพิ่มอีก 6 นาย ได้แก่ พล.ต.อ.สันต์ ศรุตานนท์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ในขณะนั้น) พ.ต.อ.สุรชัย สืบสุข รองผู้บังคับการตำรวจภูธร จ.สงขลา (ในขณะนั้น) และรับฟ้องเจ้าหน้าที่ตำรวจอีกอื่นที่เป็นผู้บังคับหมู่และรองผู้บังคับหมู่ที่ร่วมสลายการชุมนุมอีก 3 นาย โดยคดีนี้โจทก์ได้ยื่นฟ้องคดีตั้งแต่กลางปี 2546 และศาลเริ่มสืบพยานเมื่อปี 2553
ด้านนายเจ๊ะเด็น อนันตบริพงษ์ สมาชิกกลุ่มชุมนุมท่อส่งก๊าซและโรงแยกก๊าซไทย-มาเลเซีย กล่าวว่า คดีนี้สมาชิกกลุ่มฯได้ขอความช่วยเหลือไปทางสภาทนาย เพื่อให้มาช่วยต่อสู้คดีและได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี 10 กว่าปีที่ทนายความมาขึ้นศาลแทบทุกเดือน รู้สึกสงสารและขอขอบคุณเป็นอย่างสูง
นายเจ๊ะเด็น กล่าวอีกว่า ตลอดระยะเวลายาวนาน 10 กว่าปีที่ต้องเดินทางมาขึ้นศาล สมาชิกกลุ่มคัดค้านฯได้เรียนรู้ขบวนการศาลมากมายจากเดิมที่กลัวศาลก็มีความกล้า ที่สำคัญการนำคดีขึ้นศาลเพื่อเป็นการยืนยันสู้คดีกันเพื่อให้ศาลตัดสินว่าการใช้อำนาจรัฐทำร้ายประชาชนที่ใช้สิทธิ์ตามรัฐธรรมนูญและถูกเจ้าหน้าที่ทำร้ายนั้น ฝ่ายใดจะเป็นฝ่ายผิดโดยศาลจะตัดสินคดีในวันที่ 27 พ.ย.2558 เวลา 10.00 น. ซึ่งเป็นวันที่ชาวบ้านธรรมดาอย่างกลุ่มคัดค้านรอคอย
ด้านนายรัษฎา มนูรัษฎา ทนายความจากสภาทนาย กล่าวว่า คดีนี้ชาวบ้านจะนะได้มีการฟ้องร้องเจ้าหน้าที่รัฐในคดีการสลายการชุมนุมท่อส่งก๊าซและโรงแยกก๊าซธรรมชาติไทย-มาเลเซีย เหตุเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 20 ธ.ค.2545 ตามคดีหมายเลขดำที่ 1818/2546 เป็นความอาญา โดยมีนายสักกริยา หมะหวังเอียด กับพวกรวม 25 คน เป็นโจทก์ ฟ้องพล.ต.อ.สันต์ ศรุตานนท์ กับพวกรวม 38 คน จำเลยโดยวันนี้ ศาลจังหวัดสงขลาได้กำหนดวันสืบพยานวันสุดท้าย โดยพยานจำเลยคนสุดท้าย คือนายวันมูฮัมหมัด นอร์มะทา อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (ในขณะเกิดเหตุ) โดยศาลจะตัดสินคดีในวันที่ 27 พ.ย.2558