นักวิชาการมองรัฐบาลพยายามสร้างสัมพันธ์ที่ดีกับกองทัพ
ภารกิจตรวจเยี่ยมทุกเหล่าทัพของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกทั้งสัปดาห์ได้เสร็จสิ้นลงในวันนี้ด้วยการตรวจเยี่ยมกองบัญชาการกองทัพเรือเป็นเหล่าทัพสุดท้าย โดยบรรยากาศเป็นไปอย่างชื่นมื่น โดยเฉพาะประเด็นการจัดซื้อโครงการจัดซื้อเรือดำน้ำกว่า 7,000 ล้านบาท ซึ่งถูกผลักดันมาตั้งแต่สมัย พล.ร.อ.กำธร พุ่มหิรัญ อดีตผู้บัญชาการทหารเรือ ได้รับไฟเขียวจากนายกรัฐมนตรีที่ยืนยันเห็นชอบในหลักการการจัดซื้อเพื่อความมั่นคงของประเทศ
ในที่ประชุม กอ.รมน. ระหว่างที่นายกรัฐมนตรีตรวจเยี่ยมกองทัพบก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบกกล่าวในที่ประชุมว่าพร้อมสนับสนุนการทำงานรัฐบาลและสามารถเรียกใช้ทหารตลอด 24 ชั่วโมง ขณะที่นายกรัฐมนตรีชื่นชมทหารต่อการปฏิบัติงานช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยน้ำท่วมที่ผ่านมา บรรยากาศการตรวจเยี่ยมกองทัพบกครั้งแรกจึงเป็นด้วยการถ้อยที่ถ้อยอาศัยซึ่งกัน
ขณะที่การตรวจเยี่ยมกองบัญชาการกองทัพไทยประเด็นการปฏิวัติรัฐประหารเป็นสิ่งที่ พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร ผู้บัญชาการทหารสูงสุด จำเป็นต้องตอบคำถามของสื่อมวลชน ขณะการแถลงข่าวร่วมกับนายกรัฐมนตรี
ความไม่มั่นใจในการทำงานประสานงานร่วมกันระหว่างรัฐบาลกับกองทัพนั้น รศ.ปณิธาน วัฒนายากร ในฐานะนักวิชาการทางด้านรัฐศาสตร์การเมือง มองว่าภาพในการตรวจเยี่ยมกองทัพของนายกรัฐมนตรี ไม่ได้เป็นสิ่งที่ยืนยันได้ว่าจะไม่มีความขัดแย้งเกิดขึ้น หรือแม้แต่การปฎิวัติรัฐประหารที่กองทัพปฏิเสธมาโดยตลอดก็อาจจะมีขึ้นได้
ส่วนชนวนที่จะทำเกิดความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลชุดนี้ รศ.ปณิธานระบุไว้ 4 ประเด็น ได้แก่การปกป้องสถาบัน คดีการชุมนุมทางการเมือง การแก้ไขพระราชบัญญัติกระทรวงกลาโหมให้ฝ่ายการเมืองเข้าไปมีส่วนร่วมในการแต่งตั้งโยกย้ายทหารระดับสูงได้ และการจัดสรรงบประมาณให้กองทัพ และมองว่าความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างรัฐบาล กับกองทัพในขณะนี้ส่วนหนึ่งมาจากการประสานของ พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่ยืดหยุ่นในการทำงานร่วมกับกองทัพได้ดี
แม้ว่าภารกิจตรวจเยี่ยมเหล่าทัพของนายกรัฐมนตรีจะเสร็จสิ้นไปแล้ว แต่ภารกิจการสานสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาล และกองทัพ ยังเป็นสิ่งสำคัญที่รัฐบาลยังคงต้องทำอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากตั้งแต่อดีตที่ผ่านมากองทัพมักจะถูกวางบทบาทให้เป็นตัวกำหนดด้านความมั่นคงต่อเสถียรภาพของรัฐบาล