รัฐบาลเสนอร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง
ทันทีที่เปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรในสมัยประชุมนิติบัญญัติ ซึ่งหมายถึงภาระกิจหลักของ ส.ส. คือการพิจารณาร่างกฎหมายของบ้านเมือง สอดคล้องกับแนวนโยบายเร่งด่วนที่ต้องแล้วเสร็จภายใน 1 ปี ของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ซึ่งแถลงต่อรัฐสภาว่าจะเดินหน้าสร้างความปรองดองในบ้านเมือง โดยเฉพาะกับข้อเสนอเรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ปี 2550 แต่สวนทางกับเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา พรรคเพื่อไทยลงมติชะลอการแก้รัฐธรรมนูญ การแก้ พ.ร.บ.กลาโหม และการเสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมไว้ก่อน
หากแต่เจตนาทางการเมืองยังคงเดิม โดย ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง เตรียมร่างพ.ร.บ.ปรองดอง เพื่อเสนอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ขณะที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีไม่ปฏิเสธกับทุกข้อเสนอที่จะสามารถสร้างความปรองดองได้
ไม่เพียงการเสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมเท่านั้น ที่ร่างขึ้นเพื่อยกเว้นความผิดในคดีการเมืองต่าง ๆ ทุกคดีตั้งแต่หลังเหตุการณ์รัฐประหาร วันที่ 19 กันยายน ปี 2549 แต่สาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง หากจะต่างกันก็น่าจะเป็นหลักการและเหตุผลของร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง ที่จะอ้างอิงถึงความปรองดองในชาติ แทนการลดความขัดแย้งเพียงกลุ่มบุคคลหรือกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมือง เพียง 2 สี หรือ 2 กลุ่มเท่านั้น ซึ่ง รศ.ยุทธพร อิสรชัย ผู้อำนวยการโครงการวิทยาลัยการเมือง สาขารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช จึงเชื่อว่าร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับเป็นเพียงแค่การเปลี่ยนชื่อและรัฐบาลเสนอขึ้นมาเพื่อโยนหินถามทางเท่านั้น
กลไกในการขับเคลื่อนของสภาผู้แทนราษฎร เพื่อความปรองดองในบ้านเมือง ได้รับมติให้ข้อเสนอที่ต้องดำเนินการนั้นเสนอผ่านคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาศึกษาการสร้างความปรองดองแห่งชาติ โดย พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน เป็นผู้แสดงเจตนาที่จะลบภาพความขัดแย้งในอดีต ด้วยการขอให้ทุกฝ่ายถอยหลังคนละก้าว และเดินไปข้างหน้าโดยการให้อภัย เพื่อความปรองดองที่จะเกิดขึ้น และส่งไม้ต่อไปยังสถาบันพระปกเกล้า เพื่อศึกษาข้อขัดแย้งและแนวทางการสร้างความปรองดอง โดย รศ.วุฒิสาร ตันไชย ยอมรับว่าการสร้างความปรองดองอาจต้องแก้หรือเสนอกฎหมายใหม่
นั่นจึงหมายความว่า ความปรองดองในชาติ อาจหนีไม่พ้นที่จะต้องเสนอแก้รัฐธรรมนูญ ปี 2550, และน่าจะเป็นไปได้ที่คำว่าลบล้างอดีตหรือลืมเรื่องความขัดแย้งให้มองไปข้างหน้า จะกลายเป็นประเด็นให้ต้องยอมรับการเสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม, หรือการเสนอร่าง พ.ร.บ.ล้างมลทิน หรือท้ายที่สุด คือ ร่างพ.ร.บ. ปรองดอง เพราะก่อนหน้านี้รัฐบาลไม่สามารถต้านทานกระแสคัดค้านร่างพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ ที่ยกเว้นโทษทางการเมืองได้ ดังนั้นคำว่า "ปรองดอง" จึงเป็นโจทย์ที่สังคมจะพิจารณาเพื่อส่งคำตอบให้รัฐบาลต่อไป