“ดร.ธรณ์”แนะฟื้นฟู “เกาะพีพี-พังงา” ต้นแบบ เร่งแก้วิกฤตท่องเที่ยว-ทำลายทะเลอันดามัน
วันนี้ (20 ก.ย.) ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊ก Thon Thamrongnawasawat ระบุว่า ท่านนายกฯ กล่าวในการประชุมแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่ 12 ประเทศไทยต้องใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน เรามีปัญหาเรื่องการนำยุทธศาสตร์ไปใช้ในภาคปฏิบัติ ผมเลยลองนำเกาะพีพีมาเป็นต้นแบบ ก่อนพบว่า หากเราเดินหน้าแบบเดิม เราแทบไม่มีทางออกในเรื่องนี้
ปัญหาสำคัญมี 3 ประการ แนวปะการังเสียหายอย่างมาก จำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นไม่หยุดยั้ง หน่วยงานรับผิดชอบไม่มีศักยภาพเพียงพอ ขอยกตัวอย่างให้เห็น เกาะพีพีมีนักท่องเที่ยวไม่ต่ำกว่าปีละล้าน (ตัวเลขที่แท้จริงยังตอบไม่ได้) มีจำนวนเพิ่มขึ้นตลอดตามปริมาณนักท่องเที่ยวต่างชาติ แต่อุทยานมีข้าราชการ 4 คน มีเรือเร็ว 1 ลำ เรือยาง 1 ลำ ในการดูแลทุกอย่าง อุทยานเกาะพีพีไม่ได้มีแค่เกาะพีพี ยังมีเกาะไม้ไผ่ มีสุสานหอย มีทะเลแหวก มีเกาะปอดะ ฯลฯ แค่คิดถึงพื้นที่และจำนวนนักท่องเที่ยว ผมก็ไม่รู้ว่าจะดูแลกันได้อย่างไร
เพราะฉะนั้น เวลาเราตั้งคำถาม อุทยานเก็บเงินได้ครบหรือยัง ? ทำไมยังมีคนให้อาหารปลา ? ทำไมยังมีการทิ้งสมอเรือตรงนั้นตรงนี้ ? ทุกคำตอบก็กลับมาที่ข้าราชการ 4 คน เรือ 2 ลำ อุทยานมีทุ่นจอดเรืออยู่เพียงไม่กี่ลูก หน่วยงานท้องถิ่นช่วยมาสร้างให้อีก 8 ลูกก็นับว่าเป็นบุญ แต่ทั้งพื้นที่มีเรือวันละหลายร้อยลำ ด้วยปริมาณทุ่นแค่นี้ ยังไงก็ไม่พ้นการทิ้งสมอ
การปฏิรูปอุทยานทางทะเล จึงไม่ใช่แค่โยนคำถามลงไปแล้วดูสิว่าทำอะไรไปแล้วบ้าง แต่ต้องเปลี่ยนแปลงทั้งระบบ โดยแบ่งระดับความเร่งด่วนให้ชัดเจน
ระดับวิกฤต – หมู่เกาะพีพี
ระดับเร่งด่วน – หมู่เกาะอาดัง-ราวี (ตะรุเตา) หมู่เกาะสิมิลัน อ่าวพังงา
ระดับปานกลาง – อุทยานอื่น เช่น หมู่เกาะสุรินทร์
ในส่วนของพีพี ผมมั่นใจว่าการแก้ปัญหาโดยใช้ระบบของอุทยานคงแทบเป็นไปไม่ได้ เราอาจชะลอปัญหาชั่วคราว ก่อนหาแนวทางปฏิรูปแบบ “เขตพิเศษด้านการท่องเที่ยว” ที่สปช.เคยนำเสนอไว้
ในส่วนของอุทยานในระดับเร่งด่วน จำเป็นต้องรีบจัดทำแผนบริหารใหม่ให้ทันต่อปริมาณการท่องเที่ยวที่สูงขึ้นทุกวัน ขณะที่พื้นที่อื่นอาจค่อยปฏิรูปกันไปทีละขั้นตอน
ประเด็นจัดการสำคัญมีอยู่ 4 ข้อ ข้อมูลพื้นฐานทรัพยากร/ดัชนีชี้วัด จำนวนนักท่องเที่ยว/ค่าธรรมเนียม และการควบคุมติดตามเรือ กิจกรรมท่องเที่ยว/การลดผลกระทบต่อทรัพยากร สิ่งอำนวยความสะดวก ความรู้ และความปลอดภัย
ข่าวดีคือเราเริ่มบ้างแล้ว โดยเฉพาะส่วนอุทยานทางทะเล (ตั้งมา 3 เดือนแล้วครับ) และเริ่มขยับขับเคลื่อนไปข้างหน้า ข่าวร้ายคือบางปัญหามันใหญ่กว่าที่เราคิด และด้วยศักยภาพที่เรามีตลอดจนการดำเนินงานด้วยวิธีแบบเดิมๆ ผมไม่คิดว่าเราจะทำได้ ทั้งหมดนั้น คือเรื่องที่สะสมกันมาแสนนาน โดยที่ไม่เคยมีใครคิดไปแตะต้อง จนแนวปะการังไทยเสียหายมากกว่า 78 % (ตัวเลขล่าสุด)
ถึงวันนี้ เราต้องการความเปลี่ยนแปลง หากถามว่าปฏิรูปทะเลควรเริ่มต้นตรงไหนก่อน ? ผมยืนยันมั่นใจว่าที่พีพีกับที่พังงา เราแทบไม่ต้องใช้เงินภาษี เฉพาะค่าธรรมเนียมอุทยานปีหน้าคงไม่น้อยกว่า 250 ล้านบาท เท่ากับ 1 ใน 4 ของค่าธรรมเนียมแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติทั้งประเทศไทย (ด้วยระบบเก็บเงินแบบนี้ ยังไม่พูดถึงแบบใหม่ที่ควรจะได้มากกว่านี้) หากเราทำให้ดี รักษาทรัพยากรให้ได้ ผมมั่นใจว่านี่จะเป็น “ต้นแบบ” ของการปฏิรูปเพื่อความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน อย่างแท้จริงครับ
ติดตามข่าวสารผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊ค ไทยพีบีเอสออนไลน์
https://www.facebook.com/ThaiPBSNews?ref=hl