ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

คำถามจากเพื่อนบ้านเหมืองทองคำ : "มีเหมืองแร่อยู่หน้าบ้านอย่างนี้ พวกเราจะอยู่ได้อย่างไร"

สิ่งแวดล้อม
23 ก.ย. 58
10:35
498
Logo Thai PBS
คำถามจากเพื่อนบ้านเหมืองทองคำ : "มีเหมืองแร่อยู่หน้าบ้านอย่างนี้ พวกเราจะอยู่ได้อย่างไร"

แม้ว่าพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีระบุเมื่อวานนี้ (22 ก.ย.2558) ว่าอาจต้องยุตินโยบายขยายพื้นที่เหมืองแร่ทองคำ แต่ชาวบ้านที่อยู่ใกล้เหมืองทองคำที่ดำเนินการมานานเกือบ 10 ปียังคงได้รับความเดือดร้อนจากเหมืองที่เกิดขึ้นแล้วใน จ.พิจิตร และเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงมาดูพื้นที่ว่าชาวบ้านได้รับผลกระทบจากเหมืองอย่างไร

จากการลงพื้นที่ของผู้สื่อข่าวพบว่าคนงานกำลังขยายถนนเพื่อรองรับการขยายแนวเขตการทำเหมืองแร่ทองคำใน จ.พิจิตร ซึ่ง น.ส.สื่อกัญญา ธีระชาติดำรง ชาวบ้านหมู่ 9 ตำบลเขาเจ็ดลูก อ.ทับคล้อ จ.พิจิตร พาดูการขยายพื้นที่การทำเหมืองแร่ ที่อยู่ฝั่งตรงข้ามบ้านของเธอ ซึ่งมีการปักหมุดเพื่อแสดงอาณาเขตของเหมืองแร่ทองคำ ซึ่งตั้งอยู่ห่างจากบ้านของเธอเพียงแค่มีถนนเล็กๆ กั้น

สื่อกัญญาเป็นชาวบ้านรุ่นแรกๆ ที่เริ่มเคลื่อนไหวต่อต้านการขยายพื้นที่ของเหมืองแร่ทองคำมานานเป็นสิบปี เพราะไม่ต้องการให้มีเหมืองแร่ทองคำขนาดใหญ่อยู่หน้าบ้านและใกล้ชุมชน เพราะที่ผ่านมาผู้คนในชุมชนที่อยู่ใกล้เหมืองแร่ที่ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดพิจิตร เพชรบูรณ์ และพิษณุโลก มีอาการเจ็บป่วย กล้ามเนื้ออ่อนแรง คล้ายกัน โดยไม่ทราบสาเหตุในช่วงหลายปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการเหมืองแร่ทองคำจะยืนยันมาโดยตลอดว่า การประกอบกิจการเหมืองแร่เป็นไปตามมาตรฐานตามที่กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) และมาตรฐานสากล

สื่อกัญญาบอกเล่าถึงความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่เขาเจ็ดลูกที่เป็นแหล่งน้ำและอาหารของชาวบ้านก่อนที่บริษัทเหมืองแร่จะได้สัมปทานเมื่อปี 2549
 
"เขาลูกใหญ่ที่อุดมสมบูรณ์มากตลอดทั้งปี ชาวบ้านใน 3 จังหวัดก็ไปเก็บของป่า หาอาหาร ภูเขาลูกนี้ถูกระเบิดเพื่อทำเหมืองตั้งแต่ปี 2549 ก่อนหน้านั้นภูเขาอุดมสมบูรณ์มาก" สื่อกัญญากล่าว "เห็นด้วยว่าจะต้องหยุดนโยบายการขยายพื้นที่เหมืองแร่ทองคำ แต่มีข้อเสนอเพิ่มเติมคือต้องแก้ไขผลกระทบจากการทำเหมืองของสัมปทานเก่าที่ยังไม่มีอายุสัมปทาน ให้ดำเนินการทำเหมืองอยู่ อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ได้ลงมาดูบ้างหรือไม่ว่าการทำเหมืองแร่ที่อยู่หน้าบ้านเราอย่างนี้แล้วจะให้พวกเราอยู่อย่างไร ให้พวกเราทำยังไง" เธอตั้งคำถาม

ในมุมมองของสื่อกัญญาแกนนำชาวบ้าน เห็นว่า ปัญหาสุขภาพทั้งประเด็นสารโลหะหนักที่พบในร่างกายชาวบ้านรอบเหมืองแร่ 400 คนและการเสียชีวิตของชาวบ้านบางคน รวมทั้งสิ่งแวดล้อมที่พบสารโลหะหนักปนเปื้อนในน้ำ ทั้งแหล่งน้ำธรรมชาติและน้ำประปาชุมชน การปนเปื้อนในดิน แปลงนาข้าว พืชผักสวนครัว ยังไม่ถูกแก้ปัญหาเป็นรูปธรรมล้วนเป็นคำถามสำคัญไปถึงรัฐบาลและหน่วยงานเกี่ยวข้องต่อการให้ความสำคัญต่อคุณภาพชีวิต เมื่อเปรียบเทียบกับเม็ดเงินจากมูลค่าการผลิตทองคำและค่าภาคหลวงที่รัฐได้รับ


ข่าวที่เกี่ยวข้อง