ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ผู้ประกอบการไม่เชื่อมั่นศักยภาพผู้พิการ หลังใช้มาตรา 33 พบจ้างงานเพียง 2.8 หมื่นคน

สังคม
23 ก.ย. 58
10:42
250
Logo Thai PBS
ผู้ประกอบการไม่เชื่อมั่นศักยภาพผู้พิการ หลังใช้มาตรา 33 พบจ้างงานเพียง 2.8 หมื่นคน

มาตรา 33 ในกฎหมายส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ กำหนดให้สถานประกอบการ รับคนพิการเข้าทำงาน แต่ระยะเวลา 4 ปีหลังกฎหมายมีผลบังคับใช้ กลับพบว่ามีตัวเลขการจ้างงานคนพิการเพียง 2 หมื่น 8 พันคนเท่านั้น ซึ่งสาเหตุสำคัญส่วนหนึ่งเพราะข้อจำกัดในการใช้ชีวิตของคนพิการ จึงได้เสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมสนับสนุนการสร้างงานที่มีคุณค่าให้คนพิการ

ในงานเสวนา "มาตรา 33 ให้สิทธิในการจ้างงานคนพิการแค่ไหน" นายบุญธาตุ โสภา ผู้แทนกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เปิดเผยว่า หลังพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ บังคับใช้ตั้งแต่ปี 2554  โดยมาตรา 33 กำหนดให้เจ้าของสถานประกอบการ และหน่วยงานของรัฐ รับคนพิการเข้าทำงาน โดยหากมีลูกจ้าง 100 คน ต้องจ้างคนพิการ 1 คน

พบว่าปัจจุบันมีผู้พิการเข้าทำงานในสถานประกอบการต่างๆแล้ว  28,000 คน และมีบริษัทหรือสถานประกอบการที่จ้างงานคนพิการตามกฎหมายเพียง 12,000 บริษัทเท่านั้น โดยสาเหตุที่บริษัทส่วนใหญ่ยังคงเลือกช่องทางส่งเงินเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการมากกว่าการให้โอกาสคนพิการเข้าทำงานเพราะยังไม่เชื่อมั่นในศักยภาพคนพิการ หากจ้างงานอาจไม่คุ้มทุน หรือการตั้งคุณสมบัติของคนพิการที่เข้ามาทำงานไว้สูง เช่น ต้องจบปริญญาตรี ทำให้คนพิการไม่สามารถเข้าถึงการจ้างงานได้

นายรุ่งโรจน์ ตันติเวชอภิกุล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทเบทาโกร จำกัดมหาชน กล่าวว่า สถานประกอบการต้องการส่งเสริมและให้โอกาสแก่ผู้พิการ แต่อุปสรรคสำคัญคือการเดินทางมาทำงานของผู้พิการเอง ดังนั้นแนวทางการจ้างงานรูปแบบใหม่ โดยให้สถานประกอบการจ้างงานคนพิการให้ทำงานในชุมชนของคนพิการเอง ที่มูลนิธินวัตกรรมทางสังคมและ สสส.ผลักดันอยู่ในขณะนี้ถือเป็นแนวทางที่ตอบโจทย์การจ้างงานสำหรับผู้พิการ

นายสุภรธรรม มงคลสวัสดิ์ มูลนิธิพระมหาไถ่เพื่อพัฒนาคนพิการไทย เห็นว่าต้องมีการบูรณาการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้ง กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงแรงงาน สภาหอการค้าไทย ภาคธุรกิจ และสมาคมคนพิการ เพื่อผลักดันให้เกิดการจ้างงานที่มีคุณค่า รวมทั้งส่งเสริมการพัฒนาการทำงาน ความก้าวหน้าในอาชีพให้กับคนพิการ และสร้างระบบติดตามประเมินผลการทำงานที่เป็นรูปธรรม


ข่าวที่เกี่ยวข้อง