ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

มศว วิจัยสอนภาษาอังกฤษในต่างแดนได้รับความนิยม

สังคม
20 ธ.ค. 54
17:47
44
Logo Thai PBS
มศว วิจัยสอนภาษาอังกฤษในต่างแดนได้รับความนิยม

ผลสำเร็จเป็นที่ยอมรับทั่วโลก ห่วง English Speaking Year 2012 ศธ. อย่าเอาแต่พูด

รศ.ดร.เสาวลักษณ์ รัตนวิชช์ อาจารย์ประจำสาขาหลักสูตรและการสอน คณะศึกษาศาสตร์ นักวิจัยด้านการสอนแบบมุ่งประสบการณ์ภาษา กลยุทธ์สู่ความสำเร็จในการพัฒนาการรู้หนังสือเพื่อปวงชน มากกว่า 20 ปี มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว)กล่าวถึงนโยบายจัดทำโครงการ English Speaking Year 2012 เพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนของประเทศไทยในปี พ.ศ.2558 ว่า ยากมากถ้ารัฐบาลไม่ทำโครงการอย่างจริงจังและไม่พัฒนาครูภาษาอังกฤษ เพราะการพูดนโยบายต้องพูดจากฐานของงานทางวิชาการด้วย เท่าที่ตัวเองได้ทำงานวิจัยเรื่องการสอนแบบมุ่งประสบการณ์ภาษา กลยุทธ์สู่ความสำเร็จในการพัฒนาการเรียนรู้หนังสือเพื่อปวงชนซึ่งได้สอนพูดอ่าน เขียน ภาษาอังกฤษ ภาษาไทยและภาษาท้องถิ่นในประเทศต่างๆ มาเกือบทั่วโลก ได้ทุนจากสโมสรโรตารี่และทุนวิจัยจากหลายประเทศ ซึ่งการเรียนภาษานั้นต้องเน้นเรื่องราว ที่ผู้เรียนต้องการรู้ และต้องการนำไปใช้ได้จริง ตนมีประสบการณ์สอนภาษาอังกฤษ ไทยและภาษาท้องถิ่นของประเทศต่างๆด้วยแนวคิดภาษาต้องเป็นเรื่องที่นำไปใช้ได้จริง ใช้พูด ใช้อ่าน เขียนในชีวิตประจำวัน ดังนั้นไม่เน้นไวยากรณ์ในช่วงแรก การเรียนภาษาเป็นเรื่องทักษะและต้องยอมรับว่าผู้เรียนแต่ละคนมีความแตกต่าง

 ดังนั้นครูจึงต้องมีกระบวนการยืดหยุ่นและเข้าใจเด็กด้วย ทุกวันนี้เราสอนแบบเดียวในชั้นเรียนเน้นไวยากรณ์ เด็กท่องทำแบบฝึกหัดไม่ได้  อ่านไม่ออก พูดไม่ได้ เกิดความเบื่อหน่าย กลัวภาษาอังกฤษไม่อยากเรียน เพราะครูไทยไม่มีวิธีการสอนมีโรงเรียนจำนวนไม่น้อยที่ใช้ครูไม่ตรงสาขาที่จบมาสอนภาษาอังกฤษ อย่างเช่นให้ครูพละศึกษามาสอนภาษาอังกฤษ

              
“การเรียนภาษาอังกฤษและภาษาอื่นๆต้องเรียนรู้จากสถานการณ์ ควบคู่กับการเรียนรู้วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อมและสถานการณ์รอบด้าน จะมีอิทธิพลในการสื่อความหมายของคนในสังคมนั้นๆ การเรียนภาษาจึงต้องเป็นเรื่องธรรมชาติ เน้นความสนุก สด ครูและนักเรียนจึงต้องตื่นตัวกับการทำกิจกรรมตลอดเวลา หากทางกระทรวงศึกษาธิการจะทำนโยบายเรื่อง English Speaking Year 2012 ตนอยากจะให้ดูงานวิจัยที่มศว ทำมากว่า 20 ปี ซึ่งหลายประเทศจากทั่วโลก อย่างฟิลิปปินส์ มาเลเซีย เนปาล อินเดีย ปากีสถาน บังคลาเทศ อียิปต์ ตุรกี เซาท์แอฟริกา ญี่ปุ่นใช้งานวิจัยของตนเป็นโมเดลในการสอนภาษาอังกฤษและภาษาท้องถิ่นให้กับคนที่ไม่รู้หนังสือในประเทศของพวกเขา ดำเนินการสอนกับเด็กในโรงเรียน ในมหาวิทยาลัย ผู้ใหญ่ที่ไม่รู้หนังสือ เด็กเร่ร่อน คนพิการ ทำมาแล้วกับคนหลายวัยหลายประเภท  ซึ่งประเทศอียิปต์และตุรกีทางกระทรวงศึกษาธิการเป็นเจ้าภาพในการใช้งานวิจัยชุดนี้ผลักดันการเรียนภาษาในประเทศของตัวเอง ส่วนประเทศญี่ปุ่นให้ทุนอย่างต่อเนื่องและตอนนี้ให้ทุนสนับสนุนให้ตนสอนภาษาไทยและภาษาอังกฤษให้นักเรียนใน 5 จังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งได้แก่ยะลา นราธิวาส ปัตตานี สตูล สงขลาโดยใช้งานวิจัยและทฤษฎีการสอนจากงานวิจัยของตน”

              
 รศ.ดร.เสาวลักษณ์ กล่าวอีกว่า ไม่อยากเห็นศธ.ทำงานแบบไม่มีทิศทางแต่ทำงานด้วยหลักคิดเอางานวิจัย ประสบการณ์ตรงที่มีคนทำวิจัยและเป็นที่ยอมรับเพื่อผลักดันให้โครงการ English Speaking Year 2012 เป็นจริงอย่างเป็นรูปธรรม หากเราเริ่มด้วยฐานคิดงานวิจัย พร้อมไปกับการปรับเปลี่ยนวิธีคิดเรื่องการสอนภาษาอังกฤษ เปลี่ยนการสอน พัฒนาอบรมครู และเริ่มต้นการสอนพูดอ่านเขียนกับเด็กในระดับประถมต้นตามโมเดลที่ตนเคยทำให้ประเทศต่างๆ เพียง 3 ปี เด็กไทยจะเกิดการเปลี่ยนแปลงด้านภาษาอย่างแน่นอน

อย่างไรก็ตาม การสอนภาษาเพื่อให้เราใช้ภาษาได้จริงและก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียน โรงเรียนสำหรับทุกคนควรจะเป็นโรงเรียนที่ให้ความเสมอภาคทางการศึกษาแก่ผู้เรียนทุกคน โดยคำนึงถึงความสามารถ โอกาสและความต้องการของนักเรียน โรงเรียนต้องปรับกิจกรรมต่างๆ บนพื้นฐานข้อเท็จจริงที่ว่า ผู้เรียนทุกคนมีความแตกต่างกัน ทั้งทางด้านระดับสติปัญญา ความสามารถและความต้องการ โรงเรียนควรล้มเลิกแนวคิดที่ว่า ผู้เรียนทุกคนต้องเรียนเรื่องเดียวกัน แบบเดียวกันและใช้เวลาเท่ากัน การศึกษาควรเน้นความต้องการของแต่ละบุคคล และควรมีกลวิธีการประเมินความสามารถของผู้เรียนเพื่อค้นหาความสามารถหรือศักยภาพของผู้เรียน พร้อมทั้งหาวิธีการให้นักเรียนมีโอกาสพัฒนาศักยภาพของตัวเองให้ประสบความสำเร็จ การจัดหลักสูตรจึงควรคำนึงถึงความแตกต่างของผู้เรียน  โดยต้องเปิดโอกาสให้นักเรียนแต่ละคนใช้เวลาในการเรียนรู้แตกต่างกัน  มีโอกาสได้เรียนรู้ในสิ่งที่ตนเองสนใจเป็นพิเศษ ครูผู้สอนมีอิสระในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน ให้ผู้เรียนบรรลุผลสัมฤทธิ์ในสิ่งที่เรียนรู้ โดยการเอาใจใส่สนับสนุนและช่วยเหลือผู้เรียนในโอกาสการเรียนรู้ต่าง ๆ หลักสูตรควรมีความยืดหยุ่นในการจัดเนื้อหาสาระนี่คือแนวทางในการพัฒนาเด็กไทยให้ สามารถพูดอ่านเขียนเรียนรู้ภาษาอังกฤษได้เพื่อจะก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี 2558  หากไม่ปรับแนวทางต่างๆ และเอาแต่ให้นโยบายบนฐานคิดเพ้อไปวันๆ รูปธรรมก็ไม่เกิด แนวคิดดีๆ ก็น่าเสียดาย

               
นางสุภาภักตร์ ปรมาธิกุล ผอ.โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) ประสานมิตร (ฝ่ายมัธยม) กล่าวว่า การก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี 2558 และเน้นให้แต่ละโรงเรียนให้ความสนใจและให้เวลาในการเรียนการสอนภาษาอังกฤษเป็นเรื่องที่ดี ซึ่งทางสาธิตมศว ประสานมิตร และสาธิตในเครือมศวก็ทำอยู่แล้ว มีการเพิ่มชั่วโมงเรียนมากขึ้นกว่าเดิม มีการพัฒนาทางด้านภาษาของนักเรียนด้วยการเรียนภาษากับเจ้าของภาษา เราจ้างครูชาวต่างประเทศ ซึ่งโรงเรียนอื่นๆ ที่เขาไม่มีงบประมาณ ไม่มีอุปกรณ์เครื่องมือในการสอนนักเรียนคงจะทำตามนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการได้ยาก โครงการ English Speaking Year 2012  สามารถทำได้ในบางโรงเรียนซึ่งเขาก็ทำกันอยู่แล้วในโรงเรียนที่พร้อม ส่วนโรงเรียนอื่นๆ ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) จำนวนถึง 30,000 โรงคงเป็นเรื่องลำบาก และหากทำแบบไฟไหม้ฟางอย่างไม่ต่อเนื่อง จะไม่ได้ผล


ข่าวที่เกี่ยวข้อง