ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

วิป สปช.ชี้สมาชิกกังวลระบบเลือกตั้งใหม่

การเมือง
22 เม.ย. 58
08:23
129
Logo Thai PBS
วิป สปช.ชี้สมาชิกกังวลระบบเลือกตั้งใหม่

การอภิปรายเสนอแนะและขอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญร่างแรกของสภาปฏิรูปแห่งชาติ หรือ สปช. ในวันที่ 3 วันนี้ ยังคงอยู่ในเนื้อหาของภาคที่ 2 เรื่องผู้นำการเมืองที่ดีและสถาบันการเมือง โดยประธานคณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ ระบุการอภิปรายของสมาชิกเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณายกร่างรัฐธรรมนูญให้สมบูรณ์ขึ้น ขณะที่คณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการของ สปช. สรุปภาพรวมการอภิปรายว่าสมาชิกส่วนใหญ่กังวลข้อบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับระบบการเลือกตั้งรูปแบบใหม่

วันนี้ (22 เม.ย.2558) นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ระบุว่า พร้อมที่จะนำทุกข้อเสนอแนะ และความเห็นของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ไปสังเคราะห์และปรับแก้ร่างรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะการขอให้เพิ่มโทษคดีคอร์รัปชันและการไม่กำหนดอายุความ

"การอภิปรายร่างรัฐธรรมนูญเป็นการอภิปรายที่สร้างสรรค์ คณะ กมธ.ยกร่างฯก็รับฟังและจะนำความเห็นไปไปพิจารณา โดยจะชี้แจงในกรณีที่ก่อให้เกิดความเข้าใจผิด หรือไม่เป็นไปตามที่มีการอภิปราย"นายบวรศักดิ์

ขณะที่นายอลงกรณ์ พลบุตร เลขาธิการ วิป สปช. กล่าวถึงภาพรวมการอภิปรายว่า สมาชิกส่วนใหญ่มีความกังวลต่อการเลือกตั้ง โดยเฉพาะการกำหนดรูปแบบการเลือกตั้งใหม่ และประเด็นที่มาของนายกรัฐมนตรี พร้อมย้ำว่า หากข้อบัญญัติใดไม่เป็นไปตามประชาธิปไตย สปช.ก็จะไม่ให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ

"การอภิปราย 2 วันที่ผ่านมา สปช.ได้อภิปรายอย่างตรงไปตรงมา สะท้อนให้เห็นต่างฝ่ายต่างมีความเป็นอิสระไม่มีการฮั้วระหว่าง สปช.และคณะกรรมาธิการยกร่างฯ ใครจะบอกว่าเป็นแฝดอิน-จัน เป็นแฝดกับ คณะ กมธ.ยกร่างฯ ถ้าไม่โหวตรับแล้วจะต้องตกตายไปด้วยกัน ยืนยันว่าสมาชิก สปช.ทุกคนมีความกล้าพอ ที่จะโหวตไม่รับรัฐธรรมนูญถ้าเห็นว่ารัฐธรรมนูญไม่มีความเป็นประชาธิปไตย เป็นรัฐธรรมนูญที่เป็นการสืบทอดอำนาจ หรือเป็นรัฐธรรมนูญที่ไม่ส่งผลประโยชน์ต่ออนาคตของประเทศ สปช.ก็พร้อมที่จะโหวตไม่รับและก็พร้อมที่จะถูกยุบให้ตกตายไปตามกัน" อลงกรณ์ ระบุ

ขณะที่การอภิปรายในวันนี้ยังอยู่ที่ภาค 2 ในเรื่องของผู้นำที่ดีและสถาบันการเมือง ในหมวด 2 เรื่องแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ โดย สปช.บางส่วนอภิปรายสนับสนุนข้อบัญญัติว่าด้วยแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐแต่เห็นควรว่าให้กำหนดความให้ชัดเจนทั้งกรอบเวลาการดำเนินงาน และมาตรการบังคับใช้ที่เข้มข้นเพื่อให้ทุกรัฐบาลดำเนินการอย่างจริงจังและต่อเนื่อง โดยนายบวรศักดิ์ ชี้แจงว่า ร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับใหม่กำหนดให้รัฐบาลต้องแถลงนโยบายและกรอบเวลาการดำเนินการตามหลักการ แต่เพิ่มเติมแนวนโยบายให้รัฐต้องปฏิรูปตามหลักการและตามเวลาที่กำหนดและหากไม่ปฏิบัติตามให้ถือว่าละเว้นการปฏิบัติหน้าที่


ข่าวที่เกี่ยวข้อง