โรงเรียนวัดป่าประดู่ คว้าแชมป์ปิโตรแคมป์สู่แชมป์ปิโตร ปี 2554
ค่ายปิโตรแคมป์สู่แชมป์ปิโตร ปี 54 จัดโดยบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) มีคำตอบไขข้อข้องใจให้กับเยาวชน88 คน จาก 11 โรงเรียนในพื้นที่จ.ระยอง 7 โรงเรียนเดิมได้แก่โรงเรียนวัดป่าประดู่ โรงเรียนอัสสัมชัญระยอง โรงเรียนมาบตาพุดพันพิทยาคาร โรงเรียนบ้านฉางกาญจนกุลวิทยาโรงเรียนระยองวิทยาคม โรงเรียนระยองวิทยาคม ปากน้ำ และโรงเรียนระยองวิทยาคม นิคมอุตสาหกรรม และ 4 โรงเรียนใหม่ได้แก่โรงเรียนเสด็จวนชยางค์กูลวิทยา จ.ลำปาง, โรงเรียนบ่อไร่วิทยาคมจ.ตราด, โรงเรียนขอนแก่นพัฒนศึกษา จ.ขอนแก่น, และโรงเรียนเสาไห้ “วิมลวิทยานุกูล” จ.สระบุรี รวม 11 โรงเรียน เข้าร่วมค่ายครั้งนี้
สำหรับค่ายปิโตรแคมป์สู่แชมป์ปิโตร ปี 54 ครั้งนี้จัดขึ้นเป็นปีที่ 6 แล้ว โดยปีนี้ผู้เข้าร่วมจะได้เรียนรู้อย่างสนุกและสร้างสรรค์ภายใต้กิจกรรมต่างๆทั้งกิจกรรมสันทนาการเชิงสร้างสรรค์ Science Game และฐานกิจกรรม4 ฐานได้แก่ ฐานที่ 1 เมื่อขยะสร้างพลังงาน ฐานที่ 2ทำอย่างไร....น้ำใสที่สุด ฐานที่ 3 “ราอะเวย์”หายไปซะ...เจ้าเชื้อรา ฐานที่ 4 “EM เซียนเฉพาะด้าน”และกิจกรรมพิเศษคือ EmergencyInnovation “นวัตกรรมเพื่อความอยู่รอด”ที่จะได้คิดค้นนวัตกรรมเพื่อรับมือกับน้ำท่วม โดยวิทยากรจะให้น้องๆเลือกอุปกรณ์คนละหนึ่งชิ้นแล้วนำมารวมกลุ่มกันสร้างสรรค์เป็นนวัตกรรมขึ้นใช้เอง
และในปีนี้มีความพิเศษตรงที่และที่สำคัญเพื่อให้ “กระบวนการ” ค่ายบรรลุวัตถุประสงค์สูงสุดปตท.ได้จัดกิจกรรม “คู่ขนาน” สำหรับอาจารย์ที่ปรึกษาในหัวข้อต่างๆ อาทิความสำคัญและสถานการณ์ด้านพลังงานของประเทศไทยและโลกปัญหาอุปสรรคของการเรียนการสอนเรื่องพลังงาน พลังงานทดแทนและแนวโน้มพลังงานในอนาคต พลังงานสะอาดจากกังหันลม พลังงานทดแทนจากเซลล์เชื้อเพลิงและการสร้างสื่อการสอนเกี่ยวกับพลังงานรวมทั้งข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการเรียนการสอนเรื่องพลังงานทั้งในระดับมัธยมและมหาวิทยาลัยเพื่อ “เติมเต็ม” ความรู้ให้กับอาจารย์ที่ปรึกษานำไป “ต่อยอด”ในสถานศึกษาต่อไป
“น้องจี๊ป” นายเจษฎา สุวรรณพิทักษ์ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่6 โรงเรียนวัดป่าประดู่ จ.ระยอง ตัวแทนเยาวชนโรงเรียนวัดป่าประดู่ที่ได้รับรางวัลปิโตรแคมป์สู่แชมป์ปิโตร ปี 54 เล่าว่า ค่ายนี้สนุกและมีความรู้เยอะมากพวกเราได้รู้ว่าราอะเวย์คืออะไรมีประโยชน์อย่างไร ที่สำคัญเราได้ทำกิจกรรมที่ทำให้เรารู้จักคำว่า “มิตรภาพ”สิ่งที่ได้เรียนรู้ในค่ายมีมากกว่าการเรียนในห้องเรียน เพราะสามารถนำความรู้ที่ได้ไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันโดยเฉพาะกิจกรรมEmergencyInnovation ที่เราได้ช่วยกันคิดค้นนวัตกรรมในช่วงน้ำท่วม ทำให้พวกเราได้เรียนรู้หลายอย่างทั้งการวางแผนการทำงานการทำงานเป็นทีม การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าและทำงานแข่งกับเวลา
“ตอนที่รู้ว่าโรงเรียนวัดป่าประดู่ได้รางวัลชนะเลิศปิโตรแคมป์สู่แชมป์ปิโตร ปี 54 รู้สึกดีใจมาก ไม่คิดว่าโรงเรียนของเราจะได้เป็นแชมป์ในครั้งนี้ แต่ก็หวังลึกๆ อยู่เหมือนกัน เพราะครั้งนี้พวกเราตั้งใจกันมากการที่เราได้เป็นแชมป์ในครั้งนี้คงเป็นเพราะความสามัคคีของพวกเรา พวกเราช่วยเหลือเกื้อกูลกันทั้งเพื่อนในกลุ่มโรงเรียนเราเองและเพื่อนโรงเรียนอื่นๆสุดท้ายขอขอบคุณ ปตท ที่จัดค่ายนี้ขึ้นมา เพราะค่ายนี้กลายเป็นค่ายที่ทุกคนใฝ่ฝันที่จะเข้าร่วมไปแล้วถือเป็นประสบการณ์ที่ดีครั้งหนึ่งในชีวิต”
“น้องไผ่” หรือนายนวพันธ์ เถาะรอด นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนเสาไห้“วิมลวิทยานุกูล” จ.สระบุรี กล่าวว่า ปีนี้เป็นปีแรกที่โรงเรียนเสาไห้“วิมลวิทยานุกูล” ได้เข้าร่วมค่ายในครั้งนี้ และอยากบอกว่าค่ายนี้สนุกมากพวกเราได้รับทั้งความรู้และความสนุกสนาน ได้รู้จักเพื่อนใหม่ๆได้รู้ว่าตัวเองชอบอะไรและสามารถทำอะไรได้มากกว่าการเรียนในห้องเรียนสิ่งที่เราสามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ก็คือกิจกรรมการสร้างแก๊สชีวภาพ(Biogas) เพื่อใช้ในครัวเรือนด้วยตัวเอง ซึ่งเราสามารถหาวัตถุดิบได้จากในครัวเรือนจำพวกขยะสดผักผลไม้ที่เหลือทิ้ง ซึ่งพอได้มาเรียนรู้วิธีการทำแล้ว ไม่ได้ยุ่งยากอะไรเลย เช่นเดียวกับกิจกรรมทำอย่างไร....น้ำใสที่สุด ไม่ว่าเราจะอยู่ในภาวะน้ำท่วมหรือไม่ก็ตาม เราสามารถทำให้น้ำใสและสะอาดพอที่จะบริโภคหรืออุปโภคได้ด้วยตัวเองเพราะอุปกรณ์ที่ใช้ก็หาได้ง่ายๆ เช่นขวดน้ำเปล่า, ผ้าขาวบางและสำลี, กรวดละเอียด, กรวดหยาบ, ทรายหยาบ,ทรายละเอียด,ถ่านกัมมันต์ และได้ทดสอบเครื่องกรองน้ำที่ประดิษฐ์ขึ้นในการกรองหมึกสีออกจากน้ำทำให้เรารู้ว่าเราควรเรียงสารกรองอย่างไรจึงจะได้น้ำที่สะอาดและได้ปริมาณสูงสุด
ส่วน “น้องฉัตร” หรือนายฉัตรเทพทับสวัสดิ์ นักเรียน ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนมาบตาพุดพันพิทยาคาร จ.ระยอง บอกว่า อยากเข้าค่ายนี้เป็นเพราะความอยากรู้อยากเห็นของตัวเองอยากรู้จักเพื่อนใหม่ อยากพูดคุยกับเขาว่ามีวิธีการเรียนอย่างไรอยากจะร่วมแบ่งปันกัน พอมาเข้าค่ายแล้วมันพลิกกับที่คิดไว้อย่างสิ้นเชิง ตอนแรกคิดว่าเป็นค่ายเชิงวิทยาศาสตร์ต้องเครียดมากๆแต่พอมาเข้าค่ายแล้วรู้สึกว่าเราไม่ได้เครียดเลย ทุกอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ที่สนุกมาก ค่ายนี้ได้สอดแทรกเกี่ยวกับการใช้ความคิดสร้างสรรค์มากๆต่างกับค่ายอื่น มีความแปลกแหวกแนวเพื่อปลุกความคิดสร้างสรรค์ของเด็กให้ตื่นขึ้นมาและนำความคิดสร้างสรรค์มารวมกับความรู้มาพัฒนาผลงานให้ดียิ่งขึ้น
ค่ายนี้ทำให้ตนได้ไขข้อข้องใจหลายอย่าง เช่นวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมกับวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมแตกต่างกันอย่างไร เช่นเดียวกับวิทยาศาสตร์เคมีและวิศวกรรมเคมีแตกต่างกันยังไงและตอนนี้ก็ได้คำตอบแล้วว่า วิทยาศาสตร์คือผู้คิดค้น แต่วิศวกรรมคือผู้นำความรู้ที่คิดค้นมาแล้วไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันอย่างที่สองคือสงสัยว่าน้ำยา EM และ EM Ball อย่างไหนใช้ดีกว่ากันทำจากอะไร ใช้เวลานานไหม มีวิธีการทำและวิธีใช้อย่างไร ใช้ในปริมาณเท่าไร ค่ายนี้ทำให้ตนได้รับความรู้ที่ชัดเจนจนหายสงสัยและถ้ามีใครมาถามเรื่องนี้คงแนะนำวิธีที่ถูกต้องกับเขาได้แน่นอน
“ตอนแรกผมก็ชั่งใจอยู่ว่าจะเลือกเรียนวิศวกรรมเคมีหรือวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมดีพอไปค่ายแล้วผมเลยรู้ว่าผมชอบวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมแน่นอน เพราะวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมคือผู้ปกป้องสิ่งแวดล้อมส่วนวิศวกรรมเคมีคือผู้รักษาธรรมชาติ ผมอยากเป็นนายช่างที่เข้าไปปลูกป่าช่วยทำให้โลกคงที่และดีขึ้นเหมือนคนปลูกป่า ผมว่ามันดีมากนะครับ สำหรับการสอบชิงทุนครั้งนี้ผมก็จะทำอย่างเต็มที่ฝากถึงเพื่อนๆ และน้องๆ ที่สนใจเข้าร่วมค่ายปิโตรแคมป์ สู่แชมป์ปิโตรว่าค่ายนี้ไม่ได้ยากอย่างที่คิด แต่สนุกสุดๆ ต่างหาก และไม่ว่าจะได้ทุนหรือไม่เราก็สามารถนำความรู้ที่ได้มาใช้ในชีวิตประจำวันและสามารถนำไปพัฒนาประเทศชาติได้ที่สำคัญขอขอบคุณ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)ผู้ใหญ่ใจดีที่ทำให้เราได้ความรู้เพื่อนำไปพัฒนาประเทศครับ”
ทั้งนี้เยาวชนผู้เข้าร่วมค่ายทั้ง88 คน จะเข้ารับการสอบวัดความรู้ความสามารถตามเกณฑ์การรับสมัครนักศึกษาของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีเพื่อรับทุนจากบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เข้าศึกษาต่อในภาควิชาวิศวกรรมเคมี 4 ทุนและภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม 4 ทุน รวม 8 ทุน ตลอด 4 ปี ซึ่งการมอบทุนการศึกษาปีนี้บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ได้จัดต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 4แล้ว มาร่วมลุ้นและให้กำลังใจกับน้องๆ กันว่าใครจะเป็นเด็กทุนปิโตรแคมป์รุ่นที่ 4 ต่อไป.