ไทย-จีนลงนามเอ็มโอยูสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 2 ประเทศ
ภาพรวมทั้งหมดของโครงการรถไฟความเร็วสูง คือ เชื่อมต่อจากเมืองคุนหมิง มณฑลยูนนาน ประเทศจีน ผ่านเข้าไปในประเทศลาว จากนั้นจะเชื่อมจากลาวข้ามแม่น้ำโขงเข้ามาทางจังหวัดหนองคาย-อุดรธานี-ขอนแก่น-นครราชสีมาผ่านกรุงเทพฯ ลงไปทางใต้ออกไปยังมาเลเซียและสิงคโปร์ได้
รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้ให้ความเห็นชอบกรอบความร่วมมือกรอบการพัฒนากิจการรถไฟระหว่างราชอาณาจักรไทย กับสาธารณรัฐประชาชนจีน และ ตั้งคณะกรรมการประสานงาน ที่มีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีในขณะนั้นเป็นประธาน และ ร่างบันทึกความเข้าใจระหว่างสองประเทศ และส่งให้รัฐบาลจีนพิจารณา
ขณะที่กระทรวงคมนาคมมอบให้สำนักนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร ศึกษา 5 เส้นทาง รวมระยะทาง 3,133 กิโลเมตร ได้แก่ กรุงเทพ-เชียงใหม่ กรุงเทพฯ - นครราชสีมา กรุงเทพฯ-อุบลราชธานี กรุงเทพฯ - ระยอง และกรุงเทพฯ-ปาดังเบซาร์
แต่สายที่มีความเป็นไปได้ในการสร้างมากที่สุดหลังเปลี่ยนรัฐบาลคือ สายกรุงเทพฯ-นครราชสีมา หรือ เดิมคือสายกรุงเทพฯ -หนองคาย โดยรัฐบาลปัจจุบันมีการตั้งคณะกรรมการศึกษาการสร้างแล้ว ที่มีระยะทาง 615 กิโลเมตร
ทั้งนี้ไทยมีโอกาสที่จะได้ใช้บริการรถไฟความเร็วสูงช้ากว่าลาว เพราะหลังทำบันทึกความเข้าใจกับจีน และ เซ็นสัญญาตั้งแต่ปี 2553 ได้เริ่มก่อสร้างไปแล้วเมื่อเดือนเมษายนกำหนดแล้วเสร็จในปี 2558 เพื่อฉลองครบรอบ 40 ปีสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
หากไทยสร้างรถไฟความเร็วสูงที่เชื่อมต่อกันต้องลงทุนสร้างรางใหม่เนื่องจากรางมาตรฐาน standard guage ซึ่งเป็นที่นิยมใช้ มีความกว้าง 1.4357 เมตร แต่รางรถไฟไทยเป็นรางแคบหรือ มิเตอร์ เกจ กว้างแค่ 1 เมตร
ส่วนสุดยอดรถไฟความเร็วสูงซึ่งมีความเร็วที่สุดในโลก คือ รถไฟเซี่ยงไฮ้แม็กเลฟ ประเทศจีน มีระยะทาง 30 กิโลเมตร รับ-ส่งผู้โดยสารระหว่างสถานีหลงหยาง เขตพู่ตง กับท่าอากาศยานนานาชาติพู่ตง ในอนาคตมีแผนขยายเส้นทางไปยังท่าอากาศยานหงเฉียว เชื่อมต่อไปเมืองหังโจว แต่ความเร็ว 431 กิโลเมตรต่อชั่วโมงและทำความเร็วสูงสุดได้ 500 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และมีระบบการทำงานแตกต่างจากรถไฟรางทั่วโลก เพราะตัวรถทั้งขบวนจะถูกกลไกสนามแม่เหล็กยกให้ลอยสูงจากราง ประมาณ 1-10 มิลลิเมตรแล้วแต่จังหวะการวิ่ง จึงไม่มีล้อ ไม่มีเบรก ไม่มีเพลา ไม่มีระบบส่งกำลัง ผู้พัฒนาเรียกระบบนี้ว่า ไกด์เวย์