ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

แนะทบทวนผุดเขื่อน-ประตูน้ำคลองลาดพร้าว ชี้เหตุพัทยาท่วมหนัก-ไม่ปรับปรุงระบบระบาย

สังคม
29 ก.ย. 58
06:58
222
Logo Thai PBS
แนะทบทวนผุดเขื่อน-ประตูน้ำคลองลาดพร้าว ชี้เหตุพัทยาท่วมหนัก-ไม่ปรับปรุงระบบระบาย

นักวิชาการชี้เมืองใหญ่ต้องให้ความสำคัญระบบระบายน้ำควบคู่ไปกับการขยายเมืองเพื่อจัดการที่ยั่งยืน พร้อมรับมือภัยพิบัติที่อาจเกิดขึ้นจากสภาพอากาศที่ไม่สามารถคาดเดาได้อีกต่อไป

ในงานเสวนา “ภูมิอากาศเปลี่ยน มิติแก้ไขน้ำท่วมควรเปลี่ยนไหม” ที่ห้องประชุมคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศ.ดร.ธนวัฒน์ จารุพงษ์สกุล อาจารย์หน่วยศึกษาพิบัติภัยและข้อสนเทศเชิงพื้นที่ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ดร.อภิชาติ อนุกูลอำไพ นายกสมาคมทรัพยากรน้ำแห่งประเทศไทย และองค์กรภาคเอกชน ร่วมพูดคุยหัวข้อ “การเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์อุทกภัย ภัยแล้ง ที่เกิดขึ้นจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนไปของประเทศไทย” โดยนำกรณีศึกษา “พัทยาและคลองลาดพร้าว ” มาพูดถึงสถานการณ์ของการเติบโตของเมือง และแนวทางการจัดการน้ำ เมื่อเกิดอุทกภัย ฝนตก น้ำท่วม ร่วมถึงการระบายน้ำ ที่จะสามารถช่วยบรรเทาผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับประชาชนในพื้นที่ต่างๆ เพื่อให้เกิดการจัดการที่ยั่งยืน ร่วมไปถึงการวางแนวทางในการแก้ปัญหาอย่างรอบด้าน

ดร.อภิชาติกล่าวถึงสภาพการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศโลกและการพัฒนาเมืองที่จะเกิดขึ้นในอนาคต มีโอกาสที่กรุงเทพมหานครจะเผชิญน้ำท่วมหนักเช่นเดียวกับปี 2554 อีกครั้ง และหากเป็นเช่นนั้น มูลค่าความเสียหายจะเพิ่มหลายเท่า การจัดการระบบระบายน้ำจึงเป็นสิ่งสำคัญ

นายกสมาคมทรัพยากรน้ำแห่งประเทศไทยกล่าวว่า สมาคมทรัพยากรน้ำแห่งประเทศไทย รวมถึงอีก 7 องค์กรด้านน้ำ ซึ่งประกอบด้วย สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย สถาบันนักอุทกวิทยาไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย องค์การจัดการน้ำเสีย สมาคมอุทกธรณีวิทยาไทย สมาคมวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย และการการประปานครหลวง (กปน.) แสดงความห่วงใยต่อ การดำเนินโครงการก่อสร้างเขื่อนคอนกรีตเสริมเหล็ก (คสล.) และประตูระบายน้ำ ของกรุงเทพมหานคร เพื่อป้องกันการเกิดน้ำท่วมในระยะยาว ที่คลองลาดพร้าว คลองบางบัว คลองถนน คลองสอง และคลองบางซื่อ ที่มีแผนที่ลงนามสัญญาว่าจ้างบริษัทก่อสร้าง สิ้นเดือนกันยายน 2558 นี้ ด้วยงบประมาณ 2,400 ล้านบาท มีรูปแบบในการดำเนินการก่อสร้างที่อาจยังไม่เหมาะสม และทำให้เกิดผลกระทบใน 3 มิติ คือ สังคม เศรษฐกิจ และระบบนิเวศน์

โดยเฉพาะคลองลาดพร้าวที่จะก่อสร้างเขื่อนระยะทาง 22 กิโลเมตร กว้าง 20-38 เมตร เพื่อป้องกันน้ำท่วม ซึ่งการก่อสร้างคลองกว้างเพียง 30 เมตร จากเดิม 60 เมตร เพื่อให้คลองสามารถระบายน้ำได้เท่าเดิมนั้น จะต้องขุดคลองให้มีความลึกมาก เพื่อให้คลองสามารถระบายน้ำได้เท่าเดิม แต่โดยหลักการคลองที่กว้างกว่าสามารถก่อสร้างให้เป็นพื้นที่เก็บกักน้ำหลากชั่วคราวได้ดีกว่าคลองที่แคบ การดำเนินการรูปแบบนี้มีโอกาสทำให้ตลิ่งพังสูงเวลาพร่องน้ำเพื่อป้องกันน้ำท่วม

การแก้ปัญหาเพื่อรองรับปริมาณน้ำที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต ควรแก้ปัญหาประชาชนบุกรุกในพื้นที่แนวเขตคลอง ที่มีอยู่ประมาณ 6,000 หลังคาเรือน โดยการใช้มาตรการในการจัดที่อยู่อาศัยใหม่ให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในแนวเขตคลอง ให้อยู่ในละแวกใกล้เคียง ไม่ใช่ใช้วิธีโยกย้ายผู้บุกรุกในเขตคลองเพียงอย่างเดียว โดยการที่กรุงเทพมหานครจะย้ายเพียง 2,500 หลังคาเรือน เป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เพราะยังมีคนที่เหลือครอบครองพื้นที่แนวคลองอยู่ ซึ่งเป็นการกีดขวางทางระบายน้ำ และไม่สามารถแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืน และหากก่อสร้างโครงการโดยยึดแนวคลองความกว้างเฉลี่ย 60 เมตร ตามระวางเขตแนวคลองเดิม จะสามารถประหยัดงบประมาณในการก่อสร้างและบำรุงรักษา ซึ่งสามารถนำงบประมาณส่วนนี้ไปจัดหาที่อยู่อาศัยรองรับประชาชนที่บุกรุกได้

ดร.อภิชาติกล่าวต่อว่า ควรจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) แม้โครงการลักษณะนี้จะไม่ถูกกำหนดให้ศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมก็ตาม แต่เนื่องจากอาจมีผลกระทบต่อสังคมและเศรษฐกิจในวงกว้าง และจะได้เป็นการแก้ปัญหาน้ำท่วมได้ในระยะยาว

“เราไม่ได้ค้านว่าอย่าทำ แต่เราคิดว่ารูปแบบอย่างนี้น่าจะมีปัญหา และสภาพอากาศที่เปลี่ยนไป ทำให้ไม่สามารถคาดการณ์ได้ฝนจะตกหนักเท่าไร จะเกิดภัยแล้งเมื่อไรเราจึงจำเป็นจะต้องเตรียมความพร้อม ฟื้นฟูคลองให้อยู่ในรูปแบบที่ควรจะเป็น” นายกสมาคมทรัพยากรน้ำแห่งประเทศไทย ระบุ

ดร.อภิชาติกล่าวอีกว่า อยากให้ชะลอและทบทวนโครงการก่อสร้างคลองลาดพร้าว และคลองอื่นๆ ในลักษณะเดียวกันนี้ไว้ก่อน เพื่อให้มีการศึกษาทบทวนโครงการให้ละเอียดรอบคอบอีกครั้ง เพราะโครงการนี้เป็นโครงการตัวอย่างในการฟื้นฟูคลองต่างๆ ในเขต กทม. เพื่อลดผลกระทบหากเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมในระยะยาว ซึ่งหากมีการดำเนินการสร้างตามแผนที่ กทม. ออกแบบก่อสร้างจะเป็นตัวอย่างของการฟื้นฟูคลองที่ไม่เหมาะสม

ขณะที่ ดร.ธนวัฒน์กล่าวถึงสาเหตุน้ำท่วมพัทยาว่า เพราะพัทยามีการขยายเมืองอย่างรวดเร็ว หากเปรียบเทียบเป็นเด็กคือระดับเด็กมหาวิทยาลัย แต่การวางแผนระบบระบายน้ำกลับอยู่ในระดับเด็กแรกเกิดผ่านมากี่ปียังใช้ระบบเดิมแบบในอดีต คลองที่ใช้ในการระบายน้ำของพัทยามีการก่อสร้าง บุกรุกพื้นที่จากชาวบ้าน ทำเป็นทางเดิน สร้างสะพาน เป็นต้น ทำให้ตัวคลองแคบลง อีกทั้งพื้นที่สโลปที่น้ำจะไหลผ่าน กลับปล่อยให้มีการถมที่กั้นทางน้ำไหล เชื่อว่าในอนาคตหากมีเหตุการณ์ฝนตกหนักเกิดขึ้นอีกความเสียหายจะมากขึ้นกว่าเดิม

“ประเทศไทยไทยต้องมีระบบเตือนภัยพิบัติล่วงหน้า และการบริหารจัดการน้ำใหม่ทั้งระบบ การบริหารน้ำต้นทุนต้องไม่ใช้แบบปีต่อปี ต้องบริหารจัดการแบบ ENSO cycle” ดร.ธนวัฒน์กล่าว

การบริหารจัดการน้ำปัจจุบัน ทำได้แบบปีต่อปีแต่สภาพอากาศที่เป็นอยู่ก็ไม่สามารถคาดการณ์ได้แบบเดิมเหมือนในอดีตอีกต่อไป เมืองใหญ่จึงควรให้ความสำคัญกับระบบระบายน้ำควบคู่ไปกับการพัฒนาเมือง โดยปีนี้มีปัญหาแห้งแล้งจากปรากฏการณ์เอลนินโญ่ ซึ่งอาจยาวไปจนถึงเดือนพฤษภาคม 59 จนทำให้รัฐบาลต้องประกาศให้ชาวนาชะลอปลูกข้าวนาปีรวมทั้งลดการผลิตน้ำประปาในหน้าฝน ดร.ธนวัฒน์ กล่าวทิ้งท้าย

ยไมพร คงเรือง
ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอสออนไลน์

ติดตามข่าวสารอย่างรวดเร็วผ่านไทยพีบีเอสออนไลน์
https://www.facebook.com/ThaiPBSNews?ref=hl


ข่าวที่เกี่ยวข้อง