ชี้รัฐแก้ “ใบเหลือง” ประมงผิดกฎหมายไม่ถูกจุด ทำลายประมงหมื่นล้าน-คาดอียูยังไม่ปลดล็อค
ในการประชุมวิชาการหัวข้อ วิกฤต “ใบเหลือง” อียู ผลกระทบต่อประมงไทย จัดโดยศูนย์ยุโรปศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หลักสูตรสหสาขาวิชาการบริหารกิจการทางทะเล สถาบันวิจัยทรัพยากรทางน้ำ สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ฯ ได้นำเสนอผลการศึกษาผลกระทบจากการได้ใบเหลืองประมงผิดกฎหมายขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU) (Illegal, Unreported, and Unregulated (IUU) Fishing) ของสหภาพยุโรป (อียู) และมาตรการแก้ปัญหาของรัฐที่รวบรวมจากภาครัฐ ภาควิชาการ ธุรกิจ และภาคประชาชน โดยมีผู้เชี่ยวชาญและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในภาคการประมงเข้ารับฟัง
ศ.ดร.เผดิมศักดิ์ จารยะพันธุ์ ผู้ทรงคุณวุฒิหลักสูตรสหสาขาวิชาการบริหารกิจการทางทะเล ชี้แจงผลการติดตามการดำเนินนโยบายเพื่อแก้ปัญหาประมง IUU ของรัฐบาลว่า รัฐมุ่งแก้ปัญหาเพื่อปลดล็อคใบเหลืองจากอียู และการให้ความสำคัญกับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจระยะสั้นของอุตสาหกรรมประมง เป็นการแก้ปัญหาผิวเผิน ขาดความยั่งยืน และชี้ว่าการเร่งแก่ปัญหาให้ได้ภายใน 6 เดือน ขัดต่อความเป็นจริงและสร้างปัญหาอื่นๆ ตามมา โดยได้เสนอว่าการแก้ปัญหาประมงเป็นเรื่องซับซ้อน จึงควรมีคณะทำงานในลักษณะ Think tank ที่รวมเอาทุกภาคส่วนมาแก้ปัญหา ไม่ใช่เพียงใช้ข้อมูลจากภาครัฐฝ่ายเดียว
“ที่ผ่านมารัฐแก้ปัญหาไม่สอดคล้องกับบริบทของประมงไทย เช่น การให้เปลี่ยนเครื่องมือจับปลา การกำหนดเวลาทำประมง และการตั้ง ศปมผ.ขึ้นมาดำเนินการแก้ไข ไม่เปิดการมีส่วนร่วมจากภาคประมง ภาคธุรกิจ คาดว่าต่อจากนี้มีเชื่อว่าอียูจะยังคงไม่ปรับไทยให้พ้นจากใบเหลือง และมีความเป็นไปได้ว่าทางอียูจะกำหนดตรวจการแก้ปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายในไทยอีกทุกๆ 6 เดือน” ศ.ดร.เผดิมศักดิ์กล่าว
ด้าน พล.ร.ท.จุมพล ลุมพิกานนท์ ผอ.ฝ่ายประชาสัมพันธ์ ศปมผ. กล่าวว่า การแก้ปัญหาของ ศปมผ.เน้นตอบโจทย์ที่อียูกำหนดว่า 6 เดือนต้องทำอะไรบ้าง โดยยอมรับว่า 6 เดือนที่ผ่านมา ยังแก้ปัญหาประมงผิดกฎหมายได้ไม่หมด “เราพยายามแสดงให้อียูเห็นถึงความตั้งใจจริง การยกเลิกไม่ให้เรือออกทำประมงเป็นเรื่องที่ไม่อยากทำ และยอมรับว่าบางเรื่องขาดการให้ความเห็นจากภาคส่วนอื่นๆ”
ขณะที่ รศ.ดร.กังวาลย์ จันทรโชติ คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เชื่อว่า การตรวจสอบประเมินผลจากอียูช่วงเดือน ต.ค.นี้ ไทยอาจถึงขั้นได้รับใบแดง เนื่องจากการแก้ปัญหาประมง IUU ที่ไทยดำเนินการมา อาจไม่ผ่านเงื่อนไขข้อแนะนำของอียูข้อหนึ่งที่ระบุว่าการดำเนินการใดๆ จะต้องไม่สร้างความเดือดร้อนอย่างรุนแรงให้ชาวประมงที่เกี่ยวข้อง โดยสิ่งที่อียูอยากจะเห็นจากประเทศไทยในการแก้ปัญหาประมงผิดกฎหมาย คือ แผนการจัดการประมงและระบบตรวจสอบข้อมูลย้อนหลัง ขณะที่มาตรการที่ ศปมผ.ดำเนินการ เป็นการเอาเรือออกจากระบบ ซึ่งสร้างผลกระทบต่อเรือประมงพาณิชย์ขนาดกลางและขนาดเล็ก โดยเฉพาะขนาดเล็กได้รับผลกระทบมากที่สุด
รศ.ดร.กังวาลย์ระบุว่า การห้ามเรือที่มีเครื่องมือทำประมงที่ทำลายล้างออกทำประมง ต้องใช้เวลา 1-2 ปี และต้องทยอยให้หยุด โดยรัฐอาจมีมาตรการช่วยเหลือที่เหมาะสม นอกจากนี้ยังชี้อีกว่าการแก้ปัญหาของ ศปมผ.ขาดฐานข้อมูลวิชาการรองรับ
“ควรใช้วิธีที่ค่อยๆ ลดจำนวน รัฐต้องตั้งงบประมาณซื้อเรือคืนอาจจะปีละ 1,000 ลำ ใครพร้อมก็มาขายก่อน แล้วค่อยเปลี่ยนไปประกอบอาชีพอื่นๆ แบบนี้ประมงจะค่อยๆ ปรับตัวได้” ดร.กังวาลย์กล่าว
ส่วนภาคตัวแทนผู้ประกอบการประมง ดร.วิชาญ ศิริชัยเอกวัฒน์ ที่ปรึกษาสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย กล่าวว่าความเสียหายทางเศรษฐกิจที่ ศปมผ.บังคับใช้มาตรการไม่ให้เรือประมงพาณิชย์ 3,000 ลำ ที่มีปัญหาการจดอาชญาบัตรออกทำประมง ตัวเลขตั้งแต่เดือน ก.ค.-ก.ย.ที่ผ่านมา มีมูลค่าความเสียหายแล้ว 24,3000 ล้านบาท ขณะที่หากไทยได้ใบแดงจากอียู ผลกระทบจะเกิดกับภาคส่งออกเท่านั้น ซึ่งมีความเสียหายเพียง 1,700 ล้านบาท
“ในรอบ 5 เดือน มูลค่าความเสียหายอุตสาหกรรมประมงหลายหมื่นล้าน และไม่ใช่เพียงประมงขาดรายได้ แต่เครื่องมือทำประมงที่ลงทุนไปก็จะสูญเปล่า รวมทั้งความเสียหายที่เกิดกับภาคแรงงานประมงด้วย”
ในวงประชุมยังมีการเสนอให้รัฐบาลทำสำมะโนประชากรทะเลใหม่โดยเร่งด่วน เพื่อเป็นฐานข้อมูลในการแก้ปัญหาประมง หาตลาดส่งออกอาหารทะเลใหม่ๆ รองรับ และส่งเสริมการบริโภคในประเทศ นอกจากนี้ยังเสนอให้จับตาการผลักดันพระราชกำหนดการประมงฉบับใหม่ ที่เตรียมเสนอเข้าที่ประชุมครม.ในสัปดาห์หน้า ซึ่งมีเนื้อหาควบรวมเอากฎหมายจาก 3 หน่วยงานมาไว้ในฉบับเดียว ได้แก่ กรมประมง กรมเจ้าท่า และแรงงาน ซึ่งมองว่าจะสร้างปัญหาในอนาคต รวมทั้งยกเอาเงื่อนไขข้อกำหนดของ IUU และบทเฉพาะกาลที่เชื่อมโยงกับการใช้มาตรา 44 ซึ่งเกี่ยวพันกับอำนาจในการดำเนินการของ ศปมผ. มาใส่ไว้ในพ.ร.ก. อาจทำให้เกิดการทับซ้อนอำนาจกับคณะกรรมการนโยบายประมงแห่งชาติที่จะเขียนไว้ในกฎหมายด้วย
ติดตามข่าวสารอย่างรวดเร็วผ่านไทยพีบีเอสออนไลน์
https://www.facebook.com/ThaiPBSNews?ref=hl