กรมควบคุมมลพิษเผยไทยผลิตขยะพลาสติก-โฟม 2.7 ตันต่อปี เป็นถุงพลาสติกร้อยละ 80 หรือ 5,300 ตันต่อวัน
ถุงพลาสติกทุกชนิดจะถูกคัดแยกออกจากกองขยะชุมชน ทันทีที่รถบรรทุกขยะนำมาเททิ้งไว้ที่ศูนย์กำจัดมูลฝอย อ่อนนุช
น้ำทิพย์ น้อยถนอม คนงานคัดแยกขยะ เผยว่า ถุงพลาสติกที่รวมมาในกองขยะ แทบทั้งหมดจะใช้ใส่เศษอาหารและของเน่าเสียต่างๆ จากครัวเรือน ก่อนทิ้งลงถังจึงต้องทำการคัดแยกก่อนส่งขายโรงงานรีไซเคิล
ข้อมูลปี 2557 พบว่า การจัดเก็บขยะมูลฝอยชุมชนในพื้นที่ กทม. มีไม่ต่ำกว่า 9,600 ตันต่อวัน ในจำนวนนี้พบสัดส่วนขยะจากถุงพลาสติกมากเป็นอันดับ 2 หรือร้อยละ 21 รองจากขยะเศษอาหารที่มีมากถึงร้อยละ 46.87
สาโรจน์ พลฤทธิ์ หัวหน้าฝ่ายวิศวกรรม กองโรงงานกำจัดมูลฝอย สำนักสิ่งแวดล้อม กทม. กล่าวว่า ถุงพลาสติกเป็นขยะที่หาวิธีกำจัดยากที่สุด หากเทียบกับขยะประเภทอื่นๆ ที่นำมาทิ้งยังศูนย์จัดการมูลฝอยของ กทม. ซึ่งการฝังกลบเป็นวิธีส่วนใหญ่ที่ กทม.ใช้ แต่พลาสติกที่ต้องใช้เวลาย่อยสลายไม่ต่ำกว่า 400 ปี ทำให้เกิดข้อจำกัดด้านพื้นที่ฝังกลบและกลายเป็นมลภาวะในระยะยาว นอกจากนี้ พลาสติกไม่สามารถนำไปทำปุ๋ยหมักได้เหมือนขยะจากของสด เศษอาหาร ใบไม้ กิ่งไม้ ทั้งนี้ กทม.เตรียมใช้เตาเผาขยะเป็นแห่งแรกที่ศูนย์กำจัดมูลฝอย หนองแขม แต่มลภาวะจากการเผาพลาสติกก็อาจก่อให้เกิดผลกระทบ ดังนั้นไม่ว่าวิธีการใดก็ยากที่จะกำจัดถุงพลาสติก
จากประมาณการปริมาณขยะมูลฝอยของ กทม. ที่ศึกษาโดยเจบิคพบว่า เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในรอบ 10 ปี จาก 10,000 ตันต่อวัน ในปี 2547 เป็น 13,800 ตันต่อวัน ในปี 2557 ทว่า ปริมาณจัดเก็บจริงในรอบ 10 ปีมานี้ ก็ยังไม่พบว่าเกินค่าที่ประมานการเอาไว้ คือเฉลี่ยเก็บขยะได้อยู่ที่ประมาณไม่เกิน 10,000 ตันต่อวัน
ขณะที่ข้อมูลจากรมควบคุมมลพิษพบด้วยว่า แต่ละปีมีขยะพลาสติกและโฟม 2.7 ล้านตัน ในจำนวนนี้เป็นถุงพลาสติกถึงร้อยละ 80 หรือ 5,300 ตันต่อวัน