ปัญหาหมอกควันจากไฟป่าอินโดนีเซีย สงขลา-ยะลา เข้าขั้นวิกฤต
วันนี้ (5 ต.ค.2558) ความหนาแน่นของหมอกควันจากไฟป่าในอินโดนีเซียที่รุนแรงทำให้จำนวนของผู้ป่วยโรคทางเดินหายเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้แพทย์และพยาบาลโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ ต้องให้ผู้ป่วยสูงอายุ ผู้ป่วยเด็ก และผู้ป่วยหนักคนอื่นๆสวมหน้ากากอนามัย เพื่อป้องกันโรคแทรกซ้อนที่มากับสภาพอากาศที่เลวร้าย
รศ.พญ.มณฑิรา ตัณฑนุช รอง ผอ.โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ ระบุ ให้ประชาชนสวมหน้ากากอนามัยทุกครั้ง หากออกไปทำกิจกรรมต่างๆนอกบ้าน หลังการวัดค่าปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 10 ไมครอน มีอัตราเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง โดยวันนี้ เมื่อเวลา 8.00 น. วัดค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 170 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งเกินกว่าค่ามาตรฐาน ที่จะต้องไม่เกิน 120 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร
ส่วนบรรยากาศที่สนามกีฬากลางจิระนคร ประชาชนมาออกกำลังกายน้อยลง ขณะบางส่วนสวมหน้ากากอนามัยป้องกันหมอกควัน ด้านเจ้าหน้าที่เทศบาลนครหาดใหญ่ได้แจกจ่ายหน้ากากอนามัยให้ประชาชนในพื้นที่เขตเมืองตามจุดต่างๆ เพื่อใช้ป้องกันสุขภาพ ซึ่งปัญหาหมอกควันที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนทุกปี ทำให้มีกระแสในโลกโซเชียล เรียกร้องให้หน่วยงานรัฐเร่งประสานไปยังทางการอินโดนีเซียเพื่อป้องกันปัญหาจากต้นทาง
ส่วนที่จ.ยะลา การวัดค่าปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 10 ไมครอนมีอัตราอยู่ที่ 142 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งสูงเกินกว่าค่ามาตรฐาน ทำให้ประชาชนหลายคนได้รับผลกระทบในการใช้ชีวิตประจำวัน เช่นเดียวกับที่จังหวัดนราธิวาส ประชาชนหลายคนเริ่มป่วยเป็นโรคทางเดิน เพราะหมอกควันที่ปกคลุมหนาแน่น แต่ยังไม่ส่งผลกระทบต่อการบินที่สนามบินนราธิวาส ด้านสาธารณสุขได้ประกาศเตือนให้ประชาชนที่ออกนอกบ้านจำเป็นต้องใส่หน้ากากอนามัยเพื่อความปลอดภัย
ส่วนที่จ.สตูล พบว่าปริมาณค่าฝุ่นละอองเล็กไม่เกิน 10 ไมครอน อยู่ในเกณฑ์ 121-350 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และมีผลกระทบต่อสุขภาพแต่ชาวบ้านบนเกาะสาหร่าย มีทั้งหมด 6 หมู่บ้านบางคนบอกว่ายังไม่มีหน่วยงานใดเข้ามาให้ข้อมูลในการเฝ้าระวังเรื่องนี้
ส่วนที่จ.ตรัง ผู้ขับขี่รถยนต์ และรถจักรยานยนต์ต้องใช้ความระมัดระวังในการขับขี่ เพราะหมอกควันไฟจากประเทศอินโดนีเซียหนาแน่นมากกว่าทุกวัน อย่างไรก็ตามในพื้นที่ไม่เครื่องมือตรวจวัดปริมาณฝุ่นละอองในอากาศ เพื่อนำมาเป็นข้อมูลในการเฝ้าระวังและแจ้งเตือนประชาชน ส่วนที่จ.นครศรีธรรมราชถนนหลายสายเต็มไปด้วยหมอกควัน โดยเฉพาะพื้นที่ย่านชานเมือง จึงกลายเป็นอุปสรรคในการสัญจรบนท้องถนน ขณะที่การเดินอากาศของอากาศยานก็ต้องเพิ่มความระมัดระวังในการลงจอด