อุณหภูมิน้ำทะเลอ่าวเบงกอลสูงผิดปกติส่งผลคลื่นซัดฝั่งภาคใต้
ผลจากคลื่นสูงซัดฝั่งสร้างความเสียหายตามแนวชายหาด ถนนถูกกัดเซาะ ต้นไม้ริมหาดถูกแรงของลมโค่นล้ม ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตชาวบ้านและการท่องเที่ยว
จากการลงตรวจพื้นที่ดูความเสียหาย นายอานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (สทอภ.) พบนัยสำคัญของการเกิดคลื่นซัดชายฝั่งปีนี้ โดยระบุสาเหตุว่า ปกติฤดูฝนของภาคใต้เกิดจากลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือจากประเทศจีนพัดพาทำให้เกิดคลื่นลมแรง แต่ครั้งนี้มีปรากฏการณ์ลมมรสุมตะวันออก ซึ่งเกิดจากหย่อมความกดอากาศต่ำพัดเข้ามาเสริม จนเพิ่มความแรงให้กับกระแสลม ส่งผลให้เกิดคลื่นสูงซัดชายฝั่งตะวันออกปะทะในทิศทางตรงๆ ซึ่งถือเป็นสิ่งผิดปกติ
นายอานนท์ระบุด้วยว่า กระแสลมมรสุมตะวันออกดังกล่าวนั้น ส่วนหนึ่งเกิดจากอุณหภูมิน้ำทะเลในอ่าวเบงกอลสูงกว่าปกติ และกำลังเกิดการก่อตัวของพายุไซโคลนแทนน์ (Thane) ซึ่งส่งผลต่อพื้นที่ภาคใต้ของไทยที่อาจต้องเผชิญคลื่นลมสูงไปจนถึงเดือน ก.พ. จากที่เคยพัดเข้ามาและสิ้นสุดในเดือน ม.ค.