ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

หนังสือประวัติศาสตร์สะท้อนความเปลี่ยนแปลง แหล่งหลอมรวมความรักสามัคคีคนในชาติ

สังคม
3 พ.ย. 58
04:09
258
Logo Thai PBS
หนังสือประวัติศาสตร์สะท้อนความเปลี่ยนแปลง แหล่งหลอมรวมความรักสามัคคีคนในชาติ

หนังสือประวัติศาสตร์ นอกจากจะเป็นสิ่งที่บอกเล่าและสะท้อนเรื่องราวในอดีต ยังเป็นแหล่งเรียนรู้สำคัญที่สามารถหลอมรวมคนในชาติให้เกิดความรักความสามัคคี นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์มองว่านอกจากบันทึกความเปลี่ยนแปลง หนังสือประวัติศาสตร์ยังต้องมีเนื้อหาที่ทำให้ผู้อ่านรู้จักเรียนรู้ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นด้วย

ด.ช.นพนันท์ โต๊ะมี นักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 2 กำลังเลือกหาหนังสือประวัติศาสตร์ที่รวมเรื่องราวเกี่ยวกับพระราชกรณียกิจของพระมหากษัตริย์ เปิดเผยว่า ชอบอ่านหนังสือประเภทนี้ เพราะเนื้อหาสนุกและมีประโยชน์ เช่นเดียวกับนายศุภศิลป ชัยนาม นักอ่าน กล่าวว่า หนังสือประวัติศาสตร์เป็นหนังสือที่มีเนื้อหาสาระสนุกชวนติดตาม แต่จะเลือกอ่านหนังสือที่หลากหลายจากหลายมุมมองทั้งไทยและต่างประเทศ
 
เจ้าหน้าที่ประจำบูธหนังสือประวัติศาสตร์ของกรมศิลปากร กล่าวว่า หนังสือประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่จะมีนักอ่านประจำ ซึ่งประเภทหนังสือที่นักอ่านมองหามักเป็นหนังสือเก่าที่เขียนขึ้นมานาน แต่ปีนี้ที่บูธมีหนังสือประวัติศาสตร์ชาติไทย ซึ่งเป็นหนังสือใหม่ แต่กลับได้รับความสนใจจากนักอ่านหลากหลายวัยเป็นจำนวนมาก
 
นายธีระ แก้วประจันทร์ นักอักษรศาสตร์ชำนาญการพิเศษ สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ ทีมผู้เขียนหนังสือประวัติศาสตร์ชาติไทย กล่าวว่า การจัดทำหนังสือประวัติศาสตร์ชาติไทย เนื่องจากต้องการให้ประชาชนทั่วไปหันมาสนใจอ่านหนังสือประวัติศาสตร์กันมากขึ้น และเป็นความตั้งใจของนายกรัฐมนตรีที่ต้องการให้ประชาชนทั่วไปเข้าใจเรื่องราวและความเป็นมาของชาติไทยจากอดีตจนถึงปัจจุบัน ผ่านภาษาที่เข้าใจง่ายและเนื้อหาไม่ซับซ้อน นอกจากนี้ หนังสือประวัติศาสตร์ชาติไทยไม่ได้จัดทำขึ้น เพื่อจะเป็นตัวอย่างในแบบเรียน แต่กระจายไปยังท้องถิ่น เพื่อให้แจกจ่ายประชาชนหรือหน่วยงาน
 
นายธเนศ อาภรณ์สุวรรณ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ อดีตคณบดี คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า เนื้อหาของหนังสือประวัติศาสตร์มักเป็นเรื่องเล่าในมุมของผู้ปกครอง สะท้อนความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในสังคม แต่หนังสือประวัติศาสตร์ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา เนื้อหาเริ่มมีการพูดถึงความหลากหลายของสังคม วัฒนธรรมมากขึ้น ซึ่งถือเป็นการเล่าประวัติศาสตร์มุมใหม่อีกมุมหนึ่ง
 
นายธเนศกล่าวอีกว่า หากต้องการรวมความรู้สึกของผู้คนในชาติ เนื้อหาประวัติศาสตร์ควรมีเรื่องราวของผู้คนจากหลายแง่มุมที่สะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงของสังคมด้วย และที่สำคัญหนังสือประวัติศาสตร์ควรมีเนื้อหาที่ทำให้ผู้อ่านเรียนรู้สิ่งที่เกิดขึ้นจากประวัติศาสตร์ เห็นสิ่งที่เปลี่ยนไปในปัจจุบันและอนาคต


ข่าวที่เกี่ยวข้อง