ศูนย์ปรองดองฯ ส่งจม.ด่วนเชิญนักกิจกรรม-นักวิชาการ-นักกฎหมาย ถกปรองดอง
วันนี้ (22 เม.ย.2558) เฟซบุ๊กศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เผยแพร่จดหมายของศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูป (ศปป.) ที่เชิญบุคคลหลายภาคส่วนเข้าร่วมให้ความเห็นแนวทางแก้ไขปัญหาความขัดแย้งและ สร้างความปรองดองสมานฉันท์ ซึ่งมีนักกิจกรรมทางสังคม นักวิชาการ ทนายความ องค์กรพัฒนาเอกชน หลายคนที่ได้รับได้รับหนังสือเชิญนี้ โดย ศปป.ได้เชิญมาให้ความเห็นในวันที่ 23 เม.ย.เวลา 9.30 น. ณ ห้องมัฆวานรังสรรค์ สโมสรกองทัพบก ถนนวิภาวดี กรุงเทพฯ
หนังสือดังกล่าวอ้างถึงคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (เฉพาะ) ฉบับที่ 2/2557 ลงวันที่ 24 พ.ค. 2557 เรื่องการจัดตั้งศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูป (ศปป.) ซึ่งกำหนดให้ ศปป.มีหน้าที่ในการรวบรวมการความคิดเห็นของประชาชนทุกกลุ่มฝ่ายเพื่อนำมา วิเคราะห์สรุปแนวทางในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง การประชุมมี พล.อ.ฉัตรเฉลิม เฉลิมสุข เลขาธิการกองอำนวยการรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักรและรองเลขาธิการคณะรักษาความสงบแห่งชาติเข้าร่วมรับฟัง
เฟซบุ๊กศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ยังระบุอีกว่าบุคคลซึ่งได้รับจดหมายเชิญส่วนใหญ่จะมีเจ้าหน้าที่ทหารนำ จดหมายเชิญไปส่งให้ที่บ้านหรือที่ทำงานพร้อมกับถ่ายรูปเจ้าหน้าที่ยื่น จดหมายเชิญกับผู้รับจดหมายไว้ด้วย บุคคลที่ได้รับจดหมายเชิญดังกล่าวแล้ว เช่น นายอานนท์ นำภา กลุ่มพลเมืองโต้กลับ ทนายความเยาวลักษ์ อนุพันธ์ นายปิยบุตร แสงกนกกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นายสุรชัย ตรงงาม มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม น.ส.ปรีดา ทองชุมนุม มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นายไพโรจน์ พลเพชร นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิและเสรีภาพ
นายอานนท์ นำภา สมาชิกกลุ่มพลเมืองโต้กลับ ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ที่ทหารเชิญไปให้ความเห็นเรื่องการปรองดองในวันพรุ่งนี้ (22 เม.ย.) กล่าวว่าตนไม่สามารถไปให้ความเห็นได้ตามคำเชิญเนื่องจากต้องเดินทางไปทำงาน ที่ต่างจังหวัด
นายอานนท์ให้ความเห็นด้วยว่าการประชุมครั้งนี้เป็นเพียงการ "เช็คชื่อ" ของ คสช. เพื่อให้ทราบว่าใครทำอะไรที่ไหนเท่านั้น ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้นำไปสู่ความปรองดองอย่างแท้จริง เพราะคนที่ได้รับเชิญล้วนเป็นกลุ่มที่มีความเห็นแย้งกับ คสช. ทั้งนักวิชาการ นักกฎหมายและนักศึกษา
ทั้งนี้ กลุ่มพลเมืองโต้กลับเป็นกลุ่มที่ทำกิจกรรมเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐประหารและคสช.
ด้านนายสุรชัย ตรงงาม ทนายความจากมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม กล่าวว่าตนไม่ได้ไปให้ความเห็นตามคำเชิญเช่นกัน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะศูนย์ปรองดองฯ ส่งจดหมายเชิญมากระทันหัน เพิ่งได้รับเมื่อช่วงบ่ายวันนี้ (22 เม.ย.) จึงไม่สะดวกที่จะไป
นายสุรชัยเป็นผู้หนึ่งที่ลงชื่อคัดค้านการใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว
ขณะที่มีรายงานว่านายปิยบุตร แสงกนกกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสมาชิกกลุ่มนิติราษฎร์ ซึ่งถูกเชิญไปให้ความเห็นก็จะไม่ไปร่วมประชุมเช่นกันเนื่องจากต้องสอนหนังสือ
โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อสังคม ซึ่งติดตามสถานการณ์ด้านสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ตั้ังข้อสังเกตต่อการเชิญบุคคลไปให้ความเห็นเรื่องการปรองดองในครั้้งนี้ว่า
-หลายคนที่ถูกเชิญเป็นนักกฎหมายหรือทนายความที่เคยร่วมลงชื่อในแถลงการณ์คัดค้านการใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว
-การส่งจดหมายเชิญครั้งนี้ ส่งล่วงหน้าเพียงหนึ่งวัน คือ เท่าที่ได้รับรายงานทุกคนได้รับหนังสือเชิญในวันที่ 22 เม.ย.เพื่อให้ไปร่วมแสดงความคิดเห็นในเวลา 9.30 ของวันที่ 23 เม.ย.
-การส่งจดหมายเชิญมีลักษณะแปลกใหม่ คือ เจ้าหน้าที่ทหารจะไปที่บ้านตามที่อยู่ในทะเบียนบ้านหรือที่ทำงานเพื่อส่ง จดหมายให้ด้วยตนเอง และเจ้าหน้าที่จะขอถ่ายรูปตอนรับจดหมายไว้เป็นหลักฐานด้วย
-ตามประกาศหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 ข้อ 9 ออกภายใต้อำนาจมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว หากเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยเรียกบุคคลใดมารายงานตัว แล้วไม่มารายงานตัว มีความผิด มีโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี ปรับไม่เกิน 20,000 บาท แต่กรณีนี้ยังไม่ชัดเจนว่าการออกหนังสือเชิญ จึงมีคำถามว่าเป็นการเชิญภายใต้อำนาจนี้หรือไม่