ออง ซาน ซูจี ประกาศขอบริหารเหนือประธานาธิบดีเมียนมาหากชนะเลือกตั้ง-แนะ ปชช.เลี่ยงพูดถึงโรฮิงญาเกินจริงลดขัดแย้ง
วันนี้ (5 พ.ย. 2558) สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า นางออง ซาน ซูจี หัวหน้าพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนต่างประเทศที่บ้านพักในนครย่างกุ้งว่า จะอยู่เหนือตำแหน่งประธานาธิบดีคนใหม่ หากพรรค NLD ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งที่จะจัดขึ้นในวันอาทิตย์นี้ (8 พ.ย. 2558) เนื่องจากรัฐธรรมนูญเมียนมาไม่ได้บัญญัติห้ามให้มีบุคคลอยู่เหนือตำแหน่งประธานาธิบดี โดยพรรค NLD จะจัดตั้งรัฐบาลที่สร้างความปรองดองแห่งชาติ เพื่อสร้างบรรทัดฐานที่ดีให้กับการเมืองเมียนมาต่อไป
สำนักข่าวต่างประเทศรายงานเพิ่มว่า คำประกาศของนางออง ซาน ซูจี นับเป็นการท้าทายรัฐธรรมนูญของเมียนมา ที่บัญญัติห้ามไม่ให้ผู้ที่มีคู่สมรสที่เป็นชาวต่างชาติดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญสำหรับนางออง ซาน ซูจี ขณะที่ นักวิเคราะห์มองว่า นางออง ซาน ซูจี สามารถหาพันธมิตรทางการเมืองด้วยการประนีประนอมกับผู้ที่ทางพรรคเห็นว่ามีคุณสมบัติเพียงพอในการดำรงตำแหน่งผู้นำประเทศได้ในอนาคต
สำนักข่าวต่างประเทศรายงานอีกว่า นางออง ซาน ซูจี ยังวิจารณ์การทำงานของคณะกรรมการการเลือกตั้งเมียนมา ที่ประสบความล้มเหลวในการรับมือกับความผิดปกติหลายประการในการจัดการเลือกตั้งล่วงหน้า ซึ่งมีทั้งกลโกงและการข่มขู่คุกคาม พร้อมทั้งร้องขอให้ประชาคมโลกช่วยกันจับตาการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองเมียนมาอย่างใกล้ชิด เนื่องจากเป็นประเด็นที่มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าการจัดการเลือกตั้งให้โปร่งใสและยุติธรรม
วันเดียวกัน (5 พ.ย. 2558) สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า นางออง ซาน ซู จี เตือนไม่ให้ประชาชนกล่าวถึงชะตากรรมของชาวโรฮิงญาเกินความเป็นจริง เนื่องจากทั้งประเทศกำลังตกอยู่ในสถานการณ์ความขัดแย้ง ไม่ใช่เพียงรัฐยะไข่เท่านั้น แต่รับปากจะปกป้องทุกคนที่อยู่ในประเทศอย่างเหมาะสมตามกรอบที่กฎหมายระบุ หากพรรค NLD ชนะเลือกตั้ง ทั้งนี้ คำเตือนของนางออง ซาน ซูจี เกิดขึ้นหลังจากสื่อมวลชนต่างชาติสอบถามเกี่ยวกับการตีพิมพ์บทวิเคราะห์ด้านกฎหมายยาว 80 หน้า ของคลินิกสิทธิมนุษยชนของคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเยลแห่งสหรัฐอเมริกา ซึ่งอ้างว่าพบหลักฐานสำคัญเกี่ยวกับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮิงญา เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา
สำนักข่าวต่างประเทศด้วยว่า รัฐบาลเมียนมายืนยันชาวโรฮิงญาไม่ได้ถูกทำร้ายร่างกาย และถูกเลือกปฏิบัติตามกระแสข่าวที่เกิดขึ้น อีกทั้งชาวโรฮิงญาเป็นผู้อพยพผิดกฎหมายจากบังกลาเทศไม่ใช่พลเมืองชาวเมียนมา แม้ว่าจะตั้งรกรากอยู่ในรัฐยะไข่เป็นเวลานานก็ตาม