WHO เสนอ 3 แนวทาง-หวังไทยลดสถิติอุบัติเหตุทางถนนสำเร็จ
รายงานสถานการณ์ความปลอดภัยทางถนน ปี 2015 ขององค์การอนามัยโลก พบว่าประเทศไทยมีอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนเป็นอันดับ 2 ของโลก หรือร้อยละ 36.2 ต่อประชากรแสนคน หากเฉลี่ยเป็นรายชั่วโมงจะพบผู้เสียชีวิต 2-3 คนต่อชั่วโมง อัตราผู้เสียชีวิตจะเป็นผู้ชายมากกว่าผู้หญิงประมาณ 4:1 ขณะที่สาเหตุหลักของการเสียชีวิตมาจากการขับขี่รถจักรยานยนต์
น.พ.วิทยา ชาติบัญชาชัย ผู้อำนวยการศูนย์ความร่วมมือแห่งองค์การอนามัยโลกด้านการป้องกันอุบัติเหตุและการบาดเจ็บ โรงพยาบาลขอนแก่น กล่าวว่า แม้ไทยจะติดอันดับ 2 ของโลก ที่มีผู้เสียชีวิตบนถนนจำนวน 24,237 คนในปีนี้ แต่ก็เป็นจำนวนที่ลดลงหากเทียบกับรายงานสถานการณ์ความปลอดภัยทางถนน ปี 2013 ฉบับก่อนหน้า ที่ระบุว่า ไทยมียอดผู้เสียชีวิตจำนวน 26,312 คน ทั้งนี้ ยอดผู้เสียชีวิตที่ลดลงจำนวน 2,075 คน เกิดจากความร่วมมือของหลายภาคส่วนที่ร่วมกันขับเคลื่อน
น.พ.วิทยา กล่าวว่า แม้จำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนของไทยจะเริ่มลดลง แต่องค์การอนามัยโลกก็ยังมีข้อเสนอแนะให้ประเทศไทย 3 แนวทาง เพื่อให้ไทยบรรลุเป้าหมายตามปฏิญญามอสโคว ที่จะร่วมกันลดจำนวนผู้เสียชีวิตให้ได้ครึ่งหนึ่งหรือร้อยละ 50 ในปี พ.ศ.2563
1.จัดตั้งหน่วยงานเฉพาะด้านอุบัติเหตุทางถนน ในรูปแบบสถาบัน สำนักหรือกรม ที่มีงบประมาณประจำปี มีแผนยุทธศาสตร์ครอบคลุมการทำงานตลอดทั้งปี และมีบุคลากรมืออาชีพที่เชี่ยวชาญ เพื่อผลักดันกฎหมายและสะท้อนข้อมูลให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
2.ปรับปรุงกฎหมายและเพิ่มการบังคับใช้กฎหมายให้มากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องความเร็ว ควรกำหนดความเร็วในเขตเมืองไม่เกิน 50 กม.ต่อชั่วโมง กำหนดปริมาณแอลกอฮอล์ผู้ขับขี่หน้าใหม่หรือเยาวชนที่ 20 มิลลิกรัมเปอร์เซ็น ตรวจวัดแอลกอฮอล์ในทุกอุบัติเหตุที่รุนแรง และกำหนดให้มีและคาดเข็มขัดนิรภัยในแถวหลังของรถยนต์
3.เพิ่มมาตรฐานยานพาหนะและถนน ในระดับสากลรถยนต์ทุกคันต้องผ่านการทดสอบคุณภาพและสมรรถนะความแข็งแรง จากศูนย์ทดสอบที่ได้มาตรฐานสากลเพื่อให้ผู้ใช้รถและผู้โดยสารมีความปลอดภัย
นอกจากนี้ องค์การอนามัยโลกย้ำว่า ประเทศไทยต้องทำงานขับเคลื่อนเรื่องดังกล่าวให้ครอบคลุม 365 วัน ไม่ใช่ทำเพียงช่วงเทศกาล 7 วันอันตรายเท่านั้น เพราะอุบัติเหตุทางถนนเกิดขึ้นทุกวินาที