แนะทำนาปรังรอบเดียว ป้องกันปัญหาขาดแคลนน้ำ
เกษตรกรในตำบลโพนข่า อำเภอเมือง จังหวัดศรีสะเกษ ต้องเร่งสูบน้ำที่เหลืออยู่ในระบบส่งน้ำของชลประทานเข้าที่นา เพื่อหล่อเลี้ยงต้นข้าวนาปรังที่เริ่มเพาะปลูกไม่ให้ขาดแคลนน้ำ เนื่องจากในปีนี้ชาวบ้านต้องประสบปัญหาภัยแล้งที่มาเร็วกว่าทุกปี
นายไพฑูรย์ ไชยภูมิสกุล ผู้อำนวยการโครงการชลประทานศรีสะเกษ เปิดเผยว่า จากการลงพื้นที่สำรวจอ่างเก็บน้ำทั้งจังหวัด พบว่า ขณะนี้ยังมีน้ำเพียงพอสำหรับใช้อุปโภคบริโภคและการทำนาปรังเพียงครั้งเดียว เพราะเริ่มเข้าสู่ช่วงฤดูแล้ง ทำให้ต้องเร่งประชาสัมพันธ์ทำความเข้าใจกับเกษตรกร เพื่อป้องกันปัญหาการขาดแคลนน้ำ
ส่วนปริมาณน้ำในเขื่อนขนาดใหญ่หลายแห่งของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เช่น เขื่อนจุฬาภรณ์ จังหวัดชัยภูมิ ยังเหลือปริมาณน้ำในอ่างเกือบ 122 ล้านลูกบาศก์เมตร จากระดับเก็บกักปกติสูงสุด 188 ล้านลูกบาศก์เมตร, เขื่อนอุบลรัตน์มีปริมาณน้ำในอ่างกว่า 1,965 ล้านลูกบาศก์เมตร จากระดับเก็บกักสูงสุด 2,431 ล้านลูกบาศก์เมตร
ส่วนระดับน้ำในเขื่อนลำตะคอง, เขื่อนลำพระเพลิง, เขื่อนลำมูลบน และเขื่อนลำแชะ ยังมีปริมาณน้ำมากกว่าร้อยละ 80 ของความจุอ่าง ซึ่งยังเพียงพอต่อการใช้อุปโภคบริโภคและการทำนาปรังเพียง 1 ครั้งในช่วงฤดูแล้ง
เช่นเดียวกับหลายพื้นที่ทางภาคเหนือที่ประสบปัญหาเดียวกัน แม้ก่อนหน้านี้จะเป็นพื้นที่น้ำท่วมหนัก เช่น ที่จังหวัดนครสวรรค์ เจ้าหน้าที่องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) วังม้า ต้องสูบน้ำจากบ่อบาดาลวันละ 30,000 ลิตร ไปแจกจ่ายประชาชน หลังแหล่งน้ำธรรมชาติแห้งขอด และน้ำประปาไม่สามารถใช้งานได้
ขณะที่ในจังหวัดพิจิตร สภาพอากาศที่แห้งแล้งจนทำให้แม่น้ำยมแห้งขอด ทำให้องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) พิจิตร และศูนย์วิจัยพืชสวนพิจิตร ต้องบรรเทาผลกระทบจากการขาดน้ำปลูกพืชผลเกษตร ด้วยการนำกล้าผัก เช่น ต้นชะอม ซึ่งเป็นพืชใช้น้ำน้อยไปแจกจ่ายให้ชาวอำเภอสามง่าม ไปปลูกในช่วงนี้