ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เลือกตั้งผ่านไป ใครจะได้เป็นประธานาธิบดี-รัฐบาลใหม่เมียนมา

ต่างประเทศ
9 พ.ย. 58
04:07
133
Logo Thai PBS
เลือกตั้งผ่านไป ใครจะได้เป็นประธานาธิบดี-รัฐบาลใหม่เมียนมา

การเลือกตั้งเมียนมาเป็นการเลือกตั้งในระบบผู้ได้คะแนนสูงสุดชนะเลือกตั้ง นั่นคือหากพรรคการเมืองใดได้คะแนนสูงสุดในเขตเลือกตั้งนั้นๆ ก็จะได้ที่นั่งไป แต่สำหรับระบบการเมืองเมียนมาแล้ว ผลการเลือกตั้งไม่ได้เป็นสิ่งรับประกันว่าพรรคที่ชนะการเลือกตั้งจะได้บริหารประเทศ เนื่องจากรัฐธรรมนูญเมียนมากำหนดให้ประธานาธิบดีเป็นผู้จัดตั้งรัฐบาล และวางตัวรัฐมนตรีในกระทรวงต่างๆ

การได้มาซึ่งประธานาธิบดีเมียนมา เป็นการเลือกตั้งทางอ้อม คือ สภาผู้แทนราษฎร สภาชนชาติ และกองทัพจะเสนอผู้ที่มีความเหมาะสมดำรงตำแหน่งฝ่ายละ 1 คน เพื่อให้รัฐสภา 644 เสียงโหวตเลือกอีกครั้ง ผู้ที่ได้รับเสียงมากที่สุดจะดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี ส่วนผู้ที่ได้รับการเสนอชื่ออีก 2 คน จะดำรงตำแหน่งรองประธานาธิบดี ระบบเสนอชื่อนี้เองที่ทำให้ไม่มีใครรับประกันได้ ว่าพรรคการเมืองที่ได้คะแนนเสียงเลือกตั้งมากที่สุดจะได้เป็นรัฐบาล

รัฐธรรมนูญเมียนมากำหนดไว้ว่า พรรคการเมืองที่จะมีสิทธิเสนอชื่อผู้เหมาะสมเป็นประธานาธิบดีได้ จะต้องมีที่นั่งในรัฐสภารวมกันเกินกึ่งหนึ่ง คือ 332 ที่นั่ง หมายความว่า หากพรรคที่ได้คะแนนเสียงข้างมาก ได้เก้าอี้ในสภาไม่ถึงร้อยละ 50 ของที่นั่งทั้ง 2 สภา ก็ต้องจัดการเจรจากับพรรคการเมืองอื่นๆ เพื่อเป็นพันธมิตรร่วมกันเสนอชื่อประธานาธิบดี
 
แต่เนื่องจากส.ส.และสมาชิกสภาสูงชุดปัจจุบัน ยังคงอยู่ในวาระจนถึงวันที่ 30 ม.ค.2559 และรักษาการณ์จนถึงวันเลือกตั้งประธานาธิบดี ในวันที่ 29 มี.ค.2559 เท่ากับว่าในช่วง 5 เดือน ที่เปรียบเสมือนภาวะสุญญากาศทางการเมือง พรรคเสียงข้างมากจะต้องคอยล็อบบี้พรรคเล็ก หรือต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อให้มั่นใจว่าผู้สมัครที่เสนอไปจะได้คะแนนมากพอในวันเลือกตั้งประธานาธิบดี

ที่สำคัญคือในรัฐสภาเมียนมา มีสัดส่วนของกองทัพถึงร้อยละ 25 ซึ่งเท่ากับว่า รายชื่อที่กองทัพเสนอมาจะมีคะแนนเสียงตุนไว้ในมือถึง 171 เสียงแล้ว และหากว่าพรรคสหสามัคคีและการพัฒนา (USDP ที่กองทัพให้การสนับสนุน ได้เก้าอี้ 165 ที่นั่งขึ้นไป ก็น่าจะรับประกันได้ว่า รายชื่อที่กองทัพเสนอมา จะได้ขึ้นเป็นประธานาธิบดี เท่ากับว่าช่วงเวลาหลังจากการประกาศผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ

จนถึงวันที่ 29 มี.ค.2559 ซึ่งเป็นวันเลือกตั้งประธานาธิบดีในรัฐสภา จะเป็นช่วงเวลาที่คึกคักและน่าจับตามองที่สุดในการเจรจาต่อรองทางการเมือง และในกรณีที่ไม่มีพรรคการเมืองใหญ่พรรคใด ได้เก้าอี้เกิน 332 ที่นั่ง ในสภา จนสามารถเสนอชื่อประธานาธิบดีได้เพียงพรรคเดียว ตัวแปรสำคัญในการเลือกตั้งครั้งนี้ หนีไม่พ้นพรรคการเมืองกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ นั่นเอง


ข่าวที่เกี่ยวข้อง