ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เหยื่อแรงงานประมงอินโดฯ-ยังไม่ได้ค่าชดเชย-รอขั้นตอนทางกฎหมาย

สังคม
11 พ.ย. 58
05:10
289
Logo Thai PBS
เหยื่อแรงงานประมงอินโดฯ-ยังไม่ได้ค่าชดเชย-รอขั้นตอนทางกฎหมาย

แรงงานประมงที่ได้รับการช่วยเหลือจากเกาะเบนจิน่าและเกาะอัมบล ประเทศอินโดนีเซีย กำลังประสบปัญหาขาดโอกาสทางอาชีพ และยังไม่ได้รับเงินค่าชดเชยค่าแรงตามกฎหมาย เพราะการดำเนินคดียังไม่แล้วเสร็จ

วันนี้ (11พ.ย.2558) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายมาลีนู เจริญสุข เหยื่อค้ามนุษย์แรงงานประมงอินโดนีเซีย กลับมาอยู่กับครอบครัวอีกครั้ง หลังจากถูกหลอกไปเป็นแรงงานบนเรือประมง บนเกาะอัมบลประเทศอินโดนีเซียในฐานะคนตกเรือ 8 ปี 7 เดือน
“ถูกหลอกให้ไปทำงานบนเรือเพราะความเมา อยู่ในเรือทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยได้เงิน 2-3 แสนบาท ถ้าไม่รับก็จะโดนทำร้ายร่างกาย” นายมาลีนู กล่าว

นายประเสิร์ฐ ศรีอุไร อดีตแรงงานประมงประเทศอินโดนีเซีย กล่าวว่า แม้จะไม่ได้ตกเป็นเหยื่อจากขบวนการค้ามนุษย์ แต่การใช้ชีวิตของเขาก็ไม่ต่างจากนายมาลีนู
“เมื่อเจ็บป่วย ไต้ก๋งจะให้กินแต่ยาแก้ปวด แก้อักเสบ 5-6 เดือนเรือจะเข้าฝั่งก็ไม่มีใครพาไปหาหมอ เราไม่มีสิทธิ์ไปหาหมอเองถ้าไต๋ก๋งไม่เซ็นหนังสืออนุญาต”

ด้านนางสาวเสาวนีย์ โขมพัตร ผู้ตรวจราชการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เป็นหน่วยงานดูแลเรื่องการเยียวยาแรงงานประมง กล่าวว่า สำหรับการช่วยเหลือแรงงานดังกล่าว เบื้องต้นได้ส่งกลับภูมิลำเนาตามคำร้องขอ ส่วนแรงงานที่ไม่ใช่เหยื่อค้ามนุษย์ ไม่มีอำนาจจัดการ
“หน่วยงานได้ติดตามตำรวจและติดตามที่จะให้พนักงานอัยการนำขึ้นสู่การพิจารณาของศาล หลังจากนี้คิดว่าจะมีการลงโทษคมผิด และแรงงานหรือผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ก็จะได้รับการเยียวยาทั้งเรื่องของค่าจ้างค่าแรง ค่าสินไหมทดแทนตลอดจนเรื่องของการจะได้เงินค่าเสียหายทดแทนจากกระทรวงยุติธรรมในเรื่องคดีอาญาด้วย”

นายนพดล กรรณิกา ผอ.ศูนย์วิจัยยุทธศาสตร์ ชมรมนักวิจัยไทยเพื่อความสุขชุมชน ความสุขประเทศไทย กล่าวถึงผลการวิจัยปัญหาการค้ามนุษย์ของไทย พบว่า ตัวเลขเหยื่อค้ามนุษย์ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง
“ถ้าดู พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์จะพบว่า ไม่มีมาตราใดบัญญัติถึงการคัดกรองเหยื่อไว้ในกฎหมาย เพราะฉะนั้นแล้วเมื่อไปสู่การปฏิบัติของแต่ละหน่วยงาน หน่วยงานแต่ละหน่วยงานก็จะมีเกณท์การคัดกรองของตัวเอง”

อย่างไรก็ตาม แรงงานประมงที่ได้รับการช่วยเหลือ จากประเทศอินโดนีเซีย มีทั้งสิ้น 1,287 คน ระบุเป็นเหยื่อค้ามนุษย์ 53 คน และไม่ได้ตกเป็นเหยื่อ 1,234 คน สำหรับการเยียวยาเบื้องต้น หากเป็นเหยื่อค้ามนุษย์จะมีกองทุนจากกระทรวงพัฒนาสังคมช่วยเหลือรายละ 6,000 บาท พร้อมส่งเสริมอาชีพและมีที่พักสำหรับบุคคลไร้ญาติ ไร้ที่พัก

ส่วนการติดตามคดีมีอายุความ 20 ปี ขณะนี้หน่วยงานกำลังเร่งประสานในการสอบสวนเพื่อเข้าสู่กระบวนการเยียวยาให้เร็วที่สุด ส่วนแรงงานที่ไม่ได้ตกเป็นเหยื่อในขบวนการค้ามนุษย์ การต่อสู้คดีและการชดเชยค่าแรง เป็นส่วนของกระทรวงแรงงานและนายจ้างที่ต้องตกลงกันตามกฎหมาย ซึ่งความคืบหน้าของแรงงานทั้ง 2 กลุ่ม ยังอยู่ในขั้นตอนการสืบสวนหาพยานหลักฐานเพิ่มเติม
 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง