วงดนตรีสีหยดเชื่อมสัมพันธ์อาเซียนผ่านบทเพลงพื้นบ้าน
ก่อนจะถ่ายทอดต้องเข้าใจเป็นแนวทางของคนดนตรีรุ่นใหม่วงสีหยด ที่ลงมือบรรเลงทุกบทเพลงได้เต็มความหมาย เช่นเพลงกวาเกาเกียวไบที่เนื้อหาเล่าจากมุมมองของเด็กสาวเวียดนามสื่อคำนินทาในสังคมชาวบ้าน แม้เป็นเนื้อหาตลกร้าย หากอยู่ในท่วงทำนองอ่อนหวาน และเน้นการเอื้อนตามโน้ตให้อารมณ์ไม่ต่างกับเพลงต้นฉบับจากการขับกล่อม ของนักร้องหญิง อัญชลี อิสมันยี หญิงสาวเชื้อสายโซ่งหรือไทยทรงดำจากเพชรบุรี ความคุ้นเคยกับเพลงพื้นบ้านเป็นทุน เสียงเอื้อนในบทเพลงจึงมีเสน่ห์มากยิ่งขึ้น
ราว 2 ปีมานี้ วงสีหยด ศิษย์ดุริยางคศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เล่นเพลงพื้นบ้านอาเซียนจนกลายเป็นภาพจำ ทางวงคัดสรรบทเพลงโดดเด่นและมีความหมายของแต่ชาติสมาชิกอาเซียน ทั้ง ดวงจำปา เพลงสัญลักษณ์ประจำชาติลาว และจำปาพระตะบอง ของกัมพูชา ชื่อสีหยดยังเป็นเหมือนตัวแทนของคนรักเพลงแห่งศิลปากร ที่หยดสีหหลากหลายมาแต่งเติมสีสันทางดนตรีให้กันและกัน และสิ่งที่ทำมาตลอดคือการทำงานร่วมสมัย ทั้งเพลงไทย เพลงพื้นบ้านในภูมิภาค สื่อสารความหมาย
ความสนใจและรักในเสียงดนตรีเหมือนๆ กัน ทำให้เกิดการรวมตัวของสีหยดเป็นวงดนตรีร่วมสมัยเมื่อเกือบ 10 ปีที่แล้ว ตั้งแต่ยังเป็นนักศึกษา ปัจจุบันยังคงทำงานต่อเนื่องโดยเฉพาะกับลานกิจกรรมทางวัฒนธรรม และเป็นหนึ่งในกลุ่มคนดนตรีรุ่นใหม่ เรียนรู้อย่างเข้าใจในวิถีดนตรีและบทเพลงหลากหลาย