ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

กสทช.พักประมูล 4G มูลค่าทะลุ 7.4 หมื่นล้าน-ม.คุ้มครองผู้บริโภคห่วงเรื่องคุณภาพ-ความเร็ว

เศรษฐกิจ
12 พ.ย. 58
07:24
179
Logo Thai PBS
กสทช.พักประมูล 4G มูลค่าทะลุ 7.4 หมื่นล้าน-ม.คุ้มครองผู้บริโภคห่วงเรื่องคุณภาพ-ความเร็ว

วันนี้ (12 พ.ย.) เวลา 11.30 น. ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอสออนไลน์รายงานว่า กสทช.สั่งหยุดพักการประมูล 4G คลื่นความถี่ 1800 เมกะเฮิรตซ์ ตามที่ผู้ประกอบการทั้ง 4 ราย ที่เข้าร่วมประมูลร้องขอเนื่องจากการประมูลได้ดำเนินต่อเนื่องมากว่า 25 ชั่วโมง ทำให้การประมูลหยุดลงชั่วคราวหลังการเสนอราคาในรอบที่ 75 โดยราคาประมูล 2 ใบอนุญาตรวมกันอยู่ที่ 74,410 ล้านบาท แบ่งเป็นใบอนุญาตที่ 1 (Lot 1) 37,006 ล้านบาท และ Lot 2 ราคา 37,404 ล้านบาท

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างที่พักการประมูลนั้น ผู้เข้าร่วมประมูลทั้ง 4 ราย ไม่ได้รับอนุญาตให้พบกัน จะต้องแยกกันอยู่บริเวณชั้น 2, 3, 9 และ 12 ของสำนักงานกสทช. เพื่อหลีกเลี่ยงการพบปะหรือสื่อสารข้อมูลระหว่างกันในระหว่างที่ยังคงมีการประมูลต่อเนื่อง

จากมูลค่าการประมูลขณะนี้ทำให้กสทช.มีรายได้จากการเคาะราคาประมูลรวมทั้ง 2 ใบอนุญาต มูลค่า 74,410 ล้านบาท หรือคิดเป็น 188 เปอร์เซ็นต์ของราคาเต็ม ของมูลค่าคลื่นความถี่ ทั้งนี้ราคาที่เพิ่มสูงขึ้นจากการเคาะราคา กสทช.ยืนยันว่า จะไม่ส่งผลกระทบต่อราคาแพ็คเกจการใช้บริการของประชาชนที่แพงขึ้น

"ขอยืนยันว่าภายใต้เงื่อนของการประมูลใบอนุญาตในครั้งนี้ เรากำหนดไว้แล้วว่า อัตราค่าบริการ 4G จะต้องถูกลงกว่าค่าบริการ 3G ซึ่งอัตราค่าบริการ 3G เฉลี่ยขณะนี้ ในระบบเสียงอยู่ที่ 69-72 สตางค์ต่อ 1 นาที ในระบบข้อมูล 26 สตางค์ต่อเมกะไบต์ ซึ่งเมื่อมีการเปิดให้บริการในระบบ 4G แล้ว อัตราค่าบริการจะต้องถูกลงกว่านี้ ซึ่งเงื่อนไขนี้จะเป็นการตัดสินใจของผู้ประกอบการที่เข้าร่วมประมูลเองว่าอัตราค่าบริการของเขาหรืออัตราค่าประมูลของเขาจะต้องสอดคล้องกัน" นายฐากรกล่าว

ผู้ชนะการประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz ซึ่งมีจำนวน 2 ใบอนุญาต จะได้สิทธิ์ครอบครองใบอนุญาตเป็นเวลา 18 ปี โดยกสทช.คาดว่าจะเริ่มเปิดให้บริการกับประชาชนได้ภายในเดือนธันวาคม 2558

นายพรเทพ เบญญาอภิกุล อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และนักวิจัย NBTC Policy Watch ระบุว่าราคาประมูลที่พุ่งไปกว่า 7 หมื่นล้านบาทนั้นถือว่าสูงกว่าราคาเริ่มต้นที่ 15,912 ล้านบาทหลายเท่า และหากเปรียบเทียบกับราคาที่มีการประมูลในต่างประเทศก็ถือว่าสูงเช่นกัน

ส่วนการประมูลที่ใช้เวลายาวนานนั้น นายพรเทพให้ข้อมูลว่าไม่ใช่เรื่องแปลก ในต่างประเทศ เช่น เยอรมนีประมูลกันเป็นเดือนๆ เพราะผู้ประมูลต้องการให้ราคาค่อยๆ เพิ่มเพื่อให้ทราบราคาที่แท้จริง หากการประมูลกระโดดมากๆ ราคามีโอกาสอยู่ในจุดที่ไม่เหมาะสมได้ หลักสำคัญต้องจัดการประมูลให้มีการแข่งขัน

"การประมูล 4G ข้ามคืนสะท้อนให้เห็นการแข่งขัน และมูลค่าที่แท้จริงที่ผู้ประกอบการประเมินไว้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการรู้ว่าตลาดเป็นอย่างไร เป็นมูลค่าที่ผู้ประกอบการสามารถทำกำไรได้จึงกล้าประมูล ทั้งนี้ราคาประมูลที่สูงสะท้อนว่ามูลค่าทางเศรษฐกิจของคลื่น 4G มากกว่าราคาต้นทุนการประเมินหลายเท่า เพราะว่าอันนี้เป็นเพียงต้นทุนส่วนเดียวของคลื่นความถี่ของการให้บริการ ในความเป็นจริงแล้วมีการลงทุนอื่นๆ ทั้งประโยชน์ที่ได้จากอินเทอร์เน็ตไร้สายที่เร็วขึ้น สิ่งเหล่านี้เป็นผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ถ้าเทียบเดิมที่เอกชนจ่ายเป็นค่าบริการปีละหมื่นๆ ล้าน แต่การประมูลที่มีอายุใบอนุญาต 18 ปี ราคาที่ประมาณ 35,000 บาท ในแง่ผู้ประกอบการมองว่าคุ้มที่จะจ่าย" นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ตั้งข้อสังเกต

ส่วนข้อกังวลว่าราคาประมูลที่สูงจะกระทบอัตราค่าบริการนั้น นายพรเทพกล่าวว่า ผู้ประกอบการทราบอยู่แล้วว่าเงื่อนไขของค่าบริการ 4G ที่ กสทช.กำหนดไว้เป็นอย่างไร เช่น ค่าบริการต้องถูกว่า 3G คุณภาพต้องเร็วกว่า ผู้ประกอบการคิดราคามาตั้งแต่ต้นแล้วว่าจ่ายได้สูงสุดแค่ไหน  เพราะฉะนั้นราคาค่าบริการจะไปสะท้อนแข่งขันในตลาด ราคาประมูลเป็นราคาที่หักจากกำไร

สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเห็นว่าราคาประมูลไม่น่าจะกระทบต่ออัตราค่าบริการ เพราะเป็นรายจ่ายที่นอกเหนือจากการลงทุน เป็นส่วนแบ่งรายได้ที่จ่ายให้รัฐ

อย่างไรก็ตาม เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเรียกร้องให้ กสทช.ออกประกาศหลักเกณฑ์อัตราค่าบริการในเงื่อนไขประมูล ระบุให้ผู้รับใบอนุญาตต้องจัดให้มีบริการที่เป็นธรรม อัตราค่าบริการที่สมเหตุผลไม่เอาเปรียบผู้บริโภค
"ปัจจุบันอัตราให้บริการของ 2G อยู่ที่ 99 สตางค์/นาที 3G อยู่ที่ 85 สตางค์/นาที ดังนั้น 4G ค่าบริการต้องถูกกว่าอยู่แล้ว แต่สิ่งที่กังวลเป็นเรื่องความเร็วและคุณภาพในการให้บริการที่กำหนดไว้ ที่ผ่านมาความเร็วของ 3G ที่กำหนดไว้ว่าต้องไม่ต่ำกว่า 345 kbps. ยังไม่คงที่ บางทีใช้ไป 1 สัปดาห์ก็เปลี่ยนเป็น EDGE แล้วทั้งที่เงื่อนไขคือใช้แบบไม่จำกัด เพราะฉะนั้นต้องกำกับดูแลอย่างเข้มข้น ความเร็วต้องไม่ต่ำกว่า 345 kbps.ต้องทำได้จริง ในต่างประเทศ 4G เร็วกว่า 3G  4 เท่า อยู่ที่ประมาณ 3-4 mbps. ทั้งนี้ กสทช.สามารถออกเงื่อนไขในการคิดค่าบริการและคุณภาพของ 4G ซึ่งหวังว่าจะมีทำเรื่องนี้จริงจัง ยืนยันกับผู้บริโภคว่าค่าบริการไม่แพงขึ้น แต่คุณภาพต้องช่วยกันตรวจสอบ เพราะที่ผ่านมา 3G ไม่ใช่ 3G จริง" นางสารีกล่าว


ข่าวที่เกี่ยวข้อง