ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

วิกิพีเดียปิดเว็บไซต์ประท้วงร่างกฎหมายละเมิดลิขสิทธิ์

ต่างประเทศ
18 ม.ค. 55
01:23
36
Logo Thai PBS
วิกิพีเดียปิดเว็บไซต์ประท้วงร่างกฎหมายละเมิดลิขสิทธิ์

จิมมี เวลส์ ผู้ก่อตั้งวิกิพีเดีย สารานุกรมออนไลน์ ทวิตข้อความผ่านเว็บไซต์ทวิตเตอร์ว่า คำเตือนถึงนักเรียนทั้งหลาย ทำการบ้านของพวกคุณตั้งแต่เนิ่นๆ เพราะวิกิพีเดียจะปิดเว็บไซต์ 24 ชั่วโมง วันพุธที่ 18 มกราคมนี้ เพื่อประท้วงกฎหมาย ขณะที่การตัดสินใจปิดเว็บไซต์ของวิกิพีเดียใช้เวลาถกเถียงกันระหว่างสมาชิกเป็นเวลา 3 วัน โดยมีสมาชิกกว่า 1,800 รายร่วมการอภิปราย

จิมมี เวลส์ ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์วิกิพีเดีย ประกาศปิดเว็บไซต์วิกิพีเดีย เป็นเวลา 24 ชั่วโมง ส่งผลให้หน้าเว็บไซต์วิกิพิเดียจะเป็นสีดำมืด เฉพาะภาษาอังกฤษ เพื่อเป็นการประท้วงต่อต้านร่างกฎหมายยุติการละเมิดลิขสิทธิ์ทางออนไลน์ของสหรัฐหรือ SOPA และร่างกฏหมายคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา หรือ PIPA ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของสภาครองเกรส

ในแถลงการณ์ของวิกิพิเดียระบุว่า หากร่างกฎหมายผ่านการเห็นชอบ จะส่งผลกระทบต่อเสรีภาพทางอินเทอร์เน็ต และกฎหมายนี้จะกลายเป็นเครื่องมือใหม่ของการเซ็นเซอร์เว็บไซต์ต่างประเทศภายในสหรัฐ ส่วนร่างกฎหมายคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาที่วุฒิสภาพิจารณา เป็นความพยายามของทางการสหรัฐที่จะปราบปรามการจำหน่ายสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ของสหรัฐในต่างประเทศ

ร่างกฎหมายดังกล่าวเป็นกฎหมายที่ให้อำนาจรัฐ ในการปิดกั้นเว็บไซต์ โดยรัฐสามารถสั่งห้ามการ "ลิงค์" ไปยังเว็บไซต์ที่มีเนื้อหาละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ทำให้กระทบถึงบริษัทที่เกี่ยวกับอินเทอร์เน็ตขนาดใหญ่ 9 บริษัท อาทิ เอโอแอล, อีเบย์, เฟสบุค, ทวิตเตอร์ หรือแม้แต่ยาฮู ที่ก่อนหน้านี้บริษัททั้ง 9 แห่งได้ส่งจดหมายถึงสภาคองเกรสให้ทบทวนกฎหมายในการต่อต้านการละเมิดที่ควรเจาะจงมากกว่านี้

ขณะที่ร่างกฎหมายนี้กลับได้รับการสนับสนุนจากอุตสาหกรรมทางดนตรี พันธมิตรทางธุรกิจซอฟต์แวร์ สมาคมผู้ผลิตสินค้าอุตสาหกรรมแห่งชาติ และหอการค้าสหรัฐฯ เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มักถูกละเมิดลิขสิทธิ์

"วิกิพีเดีย" เป็นสารานุกรมออนไลน์ที่ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่เป็นตัวอักษร รูปภาพ วีดีโอ ที่มีลิงค์ ให้คลิกเข้าไปหารายละเอียดเพิ่มเติม ปัจจุบันมีบทความมากกว่า 20 ล้านบท ครอบคลุม 282 ภาษา

ขณะเดียวกัน วิกิพีเดียยังเป็นสารานุกรมที่มีการปรับปรุงแก้ไขอยู่ตลอดเวลา โดยเมื่อมีใครนำข้อมูลไปใส่ไว้ในเว็บไซต์จะมีผู้เข้าไปตรวจสอบ และมีบรรณาธิการเข้าไปเสนอปรับปรุงเนื้อหาให้ถูกต้อง ซึ่งผู้ก่อตั้งวิกิพีเดียระบุว่าหากระงับบริการจะมีผู้เข้ามาเยี่ยมชมเว็บไซต์ได้รับผลกระทบกว่า 25 ล้านคน


ข่าวที่เกี่ยวข้อง