กสทช. ชี้แจงการย้ายค่ายมือถือลูกค้า

เศรษฐกิจ
20 ม.ค. 55
01:16
15
Logo Thai PBS
กสทช. ชี้แจงการย้ายค่ายมือถือลูกค้า

ที่ประชุมคณะกรรมการกสทช.เตรียมออกมาตรการ กำหนดให้ผู้ให้บริการทุกราย ที่มีแผนจะปรับปรุงโครงข่าย หรือ โอนย้ายข้อมูลในระบบจะต้องส่งเรื่องให้กสทช. ขณะเดียวกัน กำหนดผู้ให้บริการทุกรายห้ามเก็บค่าบริการลูกค้าหากเกิดกรณีระบบล่มอีก รวมถึงต้องชดเชยค่าบริการคืนให้ลูกค้าที่ไม่สามารถใช้งานได้

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการกสทช.มีการรายงานการคงสิทธิเลขหมาย (นัมเบอร์พอร์ทฯ) โดยมียอดการโอนย้ายเลขหมายจากวันที่ 5 ธันวาคม 2553 ถึงวันที่ 16 มกราคม 2555 จำนวน 401,053 เลขหมาย ซึ่งมีการโอนย้ายสำเร็จจำนวน 304,779 เลขหมาย แต่ยังมีเลขหมายที่ไม่สามารถโอนย้ายได้สำเร็จอีก 100,000 เลขหมาย เนื่องจากชื่อ-นามสกุลไม่ถูกต้อง โดยมีจำนวนร้อยละ 16 ผู้ใช้ไม่มีการลงทะเบียนจำนวน ร้อยละ 10-12 และมียอดค้างชำระค่าบริการจำนวนร้อยละ 5-8

สำหรับจำนวนยอดรวมลูกค้าย้ายเข้า-ออกแล้วมียอดเป็นบวก ได้แก่ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT ที่มียอดการย้ายของลูกค้าจาก บริษัท ทรูมูฟ จำกัด ย้ายเข้าจำนวน 78,000 เลขหมาย บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส จำนวน 54,000 เลขหมาย

ขณะที่ยอดการย้ายเข้า-ออกที่เป็นลบได้แก่ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค จำนวน 5,000 กว่าเลขหมาย บริษัท ทรูมูฟ จำกัด จำนวน 110,000 เลขหมาย และบริษัทดิจิตอลโฟน จำกัด หรือ ดีพีซี จำนวน 12,000 เลขหมาย ทั้งนี้ ลูกค้าสามารถโอนย้ายผู้ให้บริการได้ที่ศูนย์ให้บริการลูกค้าทั่วประเทศ โดยแบ่งเป็น ทีโอที จำนวน 40 กว่าแห่ง กสท จำนวน 113 แห่ง เอไอเอส จำนวน 26 แห่ง ดีแทค จำนวน 51 แห่ง และ ทรูมูฟ จำนวน 61 แห่ง

นอกจากนี้ กสทช. จะกำหนดมาตรการ 3 ระยะ ประกอบด้วย ระยะสั้น คือ การตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดูแล โดยกำหนดให้ผู้ให้บริการทุกรายที่จะปรับปรุงโครงข่าย หรือ โอนย้ายข้อมูลในระบบจะต้องส่งเรื่องให้กสทช. รับทราบก่อนและรอจนกว่าจะได้รับการอนุมัติ จึงจะเริ่มดำเนินการได้

มาตรการระยะกลาง คือ แก้ไขเพิ่มเติมในประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรฐานของสัญญาให้บริการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549 ให้ครอบคลุมคุณภาพการให้บริการของผู้ให้บริการในเชิงลึก และละเอียดมากขึ้น เพื่อให้สามารถเอาผิดจนถึงขั้นปรับ รวมทั้งกำหนดให้แจ้งผู้ใช้บริการล่วงหน้า หากจะมีการปรับปรุง

และมาตรการระยะยาว คือ เรื่องคุณภาพการให้บริการ ในส่วนของบริการสื่อสารข้อมูล เนื่องจากประกาศที่ผ่านมาครอบคลุมเฉพาะบริการด้านเสียง ทำให้ผู้ให้บริการใช้เป็นข้ออ้างหากใช้งานเชื่อมต่อไม่ได้ ซึ่งทั้งหมดจะอยู่บนมาตรการเร่งด่วนที่ กสทช.จะประกาศใช้โดยเร็ว เพื่อควบคุมคุณภาพการให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ


ข่าวที่เกี่ยวข้อง