ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

นักวิ่งรุมวิจารณ์ "กรุงเทพมาราธอน" วัดระยะทางฮาล์ฟมาราธอนเกิน 7 กม.

กีฬา
15 พ.ย. 58
05:32
1,652
Logo Thai PBS
นักวิ่งรุมวิจารณ์ "กรุงเทพมาราธอน" วัดระยะทางฮาล์ฟมาราธอนเกิน 7 กม.

วันนี้ (15 พ.ย.2558) นักวิ่งทั้งชาวไทยและต่างชาติประมาณ 30,000 คนร่วมลงแข่งขันในวิ่งรายการ "สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดกรุงเทพมาราธอน" ซึ่งถือว่าเป็นงานแข่งขันวิ่งมาราธอนรายการใหญ่ประจำปี โดยแบ่งการแข่งขันเป็น 4 ระยะ มีประชาชนทั่วไปและบุคคลสำคัญร่วมลงแข่งขันทุกปี สำหรับปีนี้ผู้ที่เข้าเส้นชัยเป็นที่ 1 ระยะมาราธอน 42.195 กม.เป็นนักวิ่งจากเคนยา ใช้เวลา 2 ชั่วโมง 36 นาที แต่สิ่งที่สร้างความฮือฮาและถูกวิพากษ์วิจารณ์มากที่สุดในการแข่งขันปีนี้คือ ระยะทางของการวิ่งฮาล์ฟมาราธอนที่เกินมาประมาณ 7 กม. จากระยะ 21 กม.เป็น 28 กม. สร้างความไม่พอใจให้นักวิ่งจำนวนมาก

มาร์ค เคนท์ เอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทยเป็นหนึ่งในนักวิ่งที่ลงแข่งขันในระยะฮาล์ฟมาราธอนรายการนี้ หลังการแข่งขัน ท่านทูตได้โพสต์ข้อความในทวิตเตอร์ @KentBKK ว่า "ผมเพิ่งเสร็จจากการวิ่งฮาล์ฟมาราธอนที่ไกลที่สุดเท่าที่เคยวิ่งมา...ระยะทางเพิ่มมา 30 เปอร์เซนต์"

<"">

ขณะที่สมาชิกกลุ่มเฟซบุ๊ก "42.195 K Club...เราจะไปมาราธอนด้วยกัน" หลายคนที่ลงวิ่งในระยะฮาล์ฟมาราธอนซึ่งมีผู้สมัครลงแข่งขันประมาณ 7,000 คน ได้เข้ามาวิพากษ์วิจารณ์จำนวนมาก ส่วนใหญ่ไม่พอใจเพราะเห็นว่าผู้จัดการแข่งขันควรวัดระยะให้ได้มาตรฐานสากล โดยบรรดานักวิ่งได้โพสต์ภาพแสดงระยะทางที่แอพพลิเคชั่นและนาฬิกาจีพีเอสวัดระยะทางได้ซึ่งล้วนแต่เกินระยะฮาล์ฟมาราธอน 21.1 กม.มาประมาณ 6-7 กม. เช่น 27.75 และ 28 กม.เพื่อเป็นหลักฐานว่าผู้จัดงานวิ่งวัดระยะทางเกิน

ข้อความที่มีการโพสต์ในกลุ่ม เช่น

Wanlaya Namsirivivat "วันนี้ลงฮาล์ฟค่ะ ช่วงกิโลท้ายๆ อัดเต็มที่เพราะแรงเหลืออยากได้ New PB (เวลาที่ดีที่สุดของตัวเอง) ค่ะ มาใจสลายเอาตอนกิโลที่ 22 ได้ยินแว่วๆ ว่าเหลืออีก 6 กิโล หลังจากนั้นก็เดินยาวๆ เพราะแรงหมด สภาพตอนนี้ขาพังละค่ะ เศร้ามากมายกับฮาล์ฟครั้งที่ 2 ของเรา เห็นใจคนลงฮาล์ฟแรกที่งานนี้นะคะ ไม่น่าพลาดเลยงานใหญ่ระดับประเทศขนาดนี้.."

Surat Saedan "ผู้จัดใจดีแถมระยะฟรีให้ทุกคนที่ลง Half แถมฟรีทันที ระยะ Fun run 6 โล งานวิ่งระดับชาติ จะแถมโลสองโลไม่ได้ ไม่ต้องถามว่าเอาไม่เอา เราแถมให้ ไม่ต้องคิดว่าซ้อมมาพอหรือเปล่า เราแถมให้ ไม่ต้องกลัวอะไร เพราะปีหน้าก็จะมีคนมางานเราอีก"

<"">

Siwat Pom Chawareewong "น่าเห็นใจเพื่อนนักวิ่งหลายคนได้รับบาดเจ็บเพราะซ้อมมาแค่ระยะฮาล์ฟ ผู้จัดแถมระยะอย่างนี้ไม่ใช่เรื่องสนุกเล่นๆ เลยครับ"

Krit Potter "ผมเชื่อว่า คนวิ่ง Half งาน BKK Marathon 2015 เมื่อเช้านี้ต้องการคำอธิบาย จากผู้จัดครับว่าเกิดอะไรขึ้น ระยะที่เกินมามันเกินกว่าจะรับได้จริงๆ งานใหญ่ขนาดนี้ ไม่น่าเกิดเหตุการณ์แบบนี้ ... พูดตรงๆ โกรธมากครับ แต่ก็ไม่รู้จะมีสิทธิ์ โกรธได้รึเปล่า ผมจะรอ การอธิบายจากผู้จัดครับ"

ขณะที่ในเฟซบุ๊กของบริษัท Amazing Field ซึ่งบริษัทที่จัดการแข่งขันรวมถึงการวัดระยะทางได้มีผู้ร่วมการแข่งขันเข้าไปเขียนข้อความต่อว่าจำนวนมาก หลายคนกล่าวว่าการวัดระยะเกินมาถึง 6-7 กม.นั้นถือว่าเป็นอันตรายต่อนักวิ่ง ส่วนหนึ่งเป็นนักวิ่งชาวต่างชาติที่ต่อว่าผู้จัดการแข่งขันที่ทำผิดพลาดอย่างร้ายแรงที่วัดระยะฮาล์ฟมาราธอนเกิน

ผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อ  Raymond Yee เขียนข้อความว่าระยะทางที่ถูกต้องเป็นสิ่งสำคัญสำหรับนักวิ่งทุกคนซึ่งต่างก็ฝึกซ้อมมาอย่างหนักเพื่อมีส่วนร่วมในการแข่งขันระดับนานาชาติเช่นนี้ "แต่สิ่งที่พวกเราได้รับจากงานนี้มันแย่จนคาดไม่ถึง"

EeLing Yam แสดงความเห็นว่างานสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดกรุงเทพมาราธอนวัดระยะทางผิดไปจากที่ควรจะเป็นมาก ทั้งที่ระยะทางเป็นเรื่องพื้นฐานที่สุดที่ผู้จัดการแข่งขันมาราธอนต้องวัดให้ถูกต้องหรืออาจจะคลาดเคลื่อนได้เล็กน้อย ถ้าวัดระยะทางเกินไปมากขนาดนี้จะเป็นอันตรายต่อนักวิ่งที่ไม่ได้ซ้อมหรือไม่ได้เตรียมตัวมาวิ่งระยะไกลมากๆ
 
Adi Kel‎ นักวิ่งชาวต่างชาติอีกคนหนึ่งเข้าไปโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ของบ.อเมซิ่ง ฟีลด์ บอกว่าการที่ต้องวิ่งระยะฮาล์ฟมาราธอนเพิ่มขึ้นมาอีกหลายกิโลเมตรทำให้เขามีอาการบาดเจ็บที่หัวเข่าและทำให้เวลาที่ต้องการเก็บเป็นสถิติฮาล์ฟมาราธอนของตัวเองคลาดเคลื่อน "ผมเตรียมตัวมาอย่างดีแต่กลับต้องมาเจอกับเรื่องแบบนี้ และยังต้องจ่ายค่าสมัครวิ่งสูงถึง 50-60 ดอลลาร์สหรัฐ"

Chris Bickle‎ เห็นตรงกันเรื่องค่าสมัครที่ค่อนข้างสูงและการวัดระยะทางผิดพลาดนั้นเป็นเรื่องใหญ่ "ฮาล์ฟมาราธอนวัดระยะได้เกือบ 28 กม.! ผู้จัดวัดระยะทางผิดพลาดขนาดนี้ได้อย่างไรกัน รายการนี้เป็นการแข่งขันระดับนานาชาติที่มีชื่อเสียงและเป็นการแข่งขันมาราธอนที่เป็นที่รู้จักมากที่สุดรายการหนึ่งของประเทศไทย ปีนี้ผู้สมัครต่างชาติต้องเสียค่าสมัครถึง 50-60 ดอลลาร์สหรัฐ ผมเองไม่เคยจ่ายค่าสมัครวิ่งมาราธอนแพงเท่านี้มาก่อนแล้วก็ไม่เคยผิดหวังกับงานวิ่งมากเท่านี้มาก่อนด้วย"

ผู้สื่อข่าวได้ติดต่อไปที่ บ.อเมซิ่ง ฟีลด์ แต่ไม่มีผู้รับและได้ส่งข้อความไปที่เฟซบุ๊กทางการของบริษัทแต่ยังไม่มีการตอบกลับ

ต่อมาเมื่อเวลาประมาณ 20.00 น.ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดได้ตอบข้อความของนักวิ่งที่เข้าไปวิจารณ์การจัดงานในเฟซบุ๊กของธนาคาร "Standard Chartered Thailand" โดยธนาคารระบุว่าได้รับทราบปัญหาแล้วและได้แจ้งให้สมาคมนักวิ่งเพื่อสุขภาพแ่ห่งประเทศไทยซึ่งเป็นผู้จัดการเส้นทางเพื่อให้แก้ปัญหาแล้ว

"ธนาคารฯ ได้รับทราบปัญหาและได้นำปัญหาดังกล่าวแจ้งกับทางสมาคมนักวิ่งฯ ในฐานะผู้จัดงานและบริหารการจัดการเส้นทางวิ่ง ขณะนี้ทางสมาคมฯ จะเร่งดำเนินการหาข้อสรุปถึงสาเหตุที่เกิดขึ้นพร้อมความรับผิดชอบมาแจ้ง เพื่อทราบต่อไป"

เว็บไซต์ทางการของการแข่งขันกรุงเทพมาราธอน (www.bkkmarathon.com) เล่าประวัติของ "กรุงเทพมาราธอน" (Bangkok Marathon) ว่าเป็นการจัดงานแข่งขันวิ่งมาราธอนประเพณีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประเทศไทย เริ่มมานับตั้งแต่ปี 2531 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน โดยได้กำหนดวันอาทิตย์สัปดาห์ที่ 3 ของเดือนพฤศจิกายน เป็นวันจัดงานในทุกรอบปี นับตั้งแต่ปี 2549 เป็นต้นมา ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) จำกัด (มหาชน) ได้เข้ามาเป็นผู้สนับสนุนหลัก จึงกำหนดให้เรียกว่า "สแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ดกรุงเทพมาราธอน" บริเวณจัดงาน (จุดเริ่มต้นและสิ้นสุดการแข่งขัน) อยู่ที่บนถนนสนามไชย ด้านหน้าพระบรมมหาราชวังและวัดพระแก้วหรือหน้ากระทรวงกลาโหม มีการปิดการจราจรในบริเวณดังกล่าวในวันจัดงาน กล่าวได้ว่าเป็นบริเวณจัดงานที่มีสถานที่แวดล้อมอลังการสง่างามที่สุด

การแข่งขันแบ่งเป็น 4 ระยะ คือ  มาราธอน (42.195 กม.) ฮาล์ฟมาราธอน (21.1 กม.)  มินิมาราธอน (10 กม.) และไมโครมาราธอน (4.5 กม.)


ข่าวที่เกี่ยวข้อง