นักวิเคราะห์เผยหนทางทวงคือความยุติธรรม-ศักดิ์ศรีของฝรั่งเศสและชาติพันธมิตร หลังเหตุก่อการร้ายปารีส
วันนี้ (15 พ.ย. 2558) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภาพประชาชนหนีตายอลหม่านออกมาทางประตูหลังโรงละครบาตาคล็องในกรุงปารีส ขณะเกิดเหตุโจมตี เป็นภาพที่สร้างความสะเทือนใจไปทั่วโลก และแสดงให้เห็นถึงความโหดร้ายของสงครามที่เกิดขึ้น
นายฟรองซัวส์ โอลลองด์ ประธานาธิบดีฝรั่งเศส ประกาศถึงเรื่องนี้ชัดเจนว่าเป็นสงครามจากฝีมือของกองทัพผู้ก่อการร้ายไอเอสที่วางแผนมาเป็นอย่างดี พร้อมทั้งระบุว่าฝรั่งเศสจะตอบโต้กลับอย่างไร้ความปราณี
โดยหลังเหตุโจมตีกรุงปารีส กลุ่มนักรบไอเอสได้ส่งสาส์นถึงชาวมุสลิมที่ไม่สามารถเดินทางไปร่วมรบในซีเรียได้ ให้ออกมาทำสงครามศักดิ์สิทธิ์ด้วยการก่อการร้ายโจมตีฝรั่งเศส ด้วยวิธีการต่างๆ ทั้งการใช้อาวุธ การใช้รถยนต์พุ่งชน หรือกระทั่งการวางยาพิษในอาหารและน้ำเพื่อกำจัดศัตรูของพระผู้เป็นเจ้า
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คำถามที่ตามมาคือ ต่อจากนี้ฝรั่งเศสจะตอบโต้กลุ่มไอเอสเพื่อทวงคืนความยุติธรรมและกู้ศักดิ์ศรีของประเทศให้กลับคืนมาได้ด้วยวิธีการใด เนื่องจากเหตุก่อการร้ายที่เกิดขึ้น กำลังกลายเป็นแรงกดดันมหาศาลให้กับผู้นำฝรั่งเศส ซึ่งจนถึงขณะนี้ ยังไม่ปรากฎภาพที่ชัดเจนว่ารัฐบาลฝรั่งเศสและสหรัฐฯ ที่เป็นแกนนำปฏิบัติการทิ้งระเบิด โจมตีกลุ่มไอเอสในอิรักและซีเรียมานานมากกว่า 1 ปี จะขยายปฏิบัติการให้หนักหน่วงมากขึ้นไปอีกหรือไม่ เนื่องจากเกิดความกังวลว่าทั้ง 2 ประเทศ อาจจะถลำลึกเข้าสู่สงครามในตะวันออกกลาง ถึงขั้นต้องส่งกำลังภาคพื้นดินเข้าไปในพื้นที่จนถอนตัวไม่ขึ้นเป็นระยะเวลานาน
ขณะที่ นักวิเคราะห์ด้านความมั่นคง มองว่า ในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา เกิดกรณีกลุ่มไอเอสโจมตีครั้งใหญ่ 2 ครั้ง โดยในครั้งแรกเป็นการโจมตีด้วยระเบิดฆ่าตัวตายทางตอนใต้ของกรุงเบรุตในเลบานอน ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 43 คน ส่วนครั้งที่ 2 เป็นการวางระเบิดเครื่องบินโดยสารของรัสเซียบนคาบสมุทรไซนายของอียิปต์ มีผู้เสียชีวิต 224 คน รวมทั้งการก่อการร้ายครั้งล่าสุดในกรุงปารีส
เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ข้อถกเถียงที่ต้องการให้มีการเพิ่มกำลังทหาร เข้าปราบปรามกลุ่มไอเอสมีน้ำหนักมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากที่ผ่านมายุทธศาสตร์โจมตีทางอากาศภายใต้การนำของสหรัฐฯ ยังไม่เพียงพอและไม่สามารถป้องกันตัวเองและชาติพันธมิตรให้รอดพ้นจากการถูกกลุ่มไอเอสโจมตีกลับได้
นายบรูซ รีดเดล อดีตผู้เชี่ยวชาญอาวุโสของซีไอเอ ระบุว่า การโจมตีหลายระลอกที่เกิดขึ้นในระยะนี้ กำลังทำให้ข้อสันนิษฐานที่ว่ากลุ่มไอเอสเป็นเพียงภัยคุกคามในระดับภูมิภาคเท่านั้นหมดไป พร้อมกับมีข้อเรียกร้องให้ชาติพันธมิตรส่งหน่วยปฏิบัติการพิเศษเข้าไปในอิรักและซีเรียมากขึ้น
ทั้งนี้ นักวิเคราะห์ มองว่า การสร้างแรงกดดันให้กับกลุ่มไอเอสให้ได้ผลนั้น จำเป็นที่จะต้องขยายแรงกดดันไปที่แกนนำกลุ่มไอเอส ด้วยการเลือกโจมตีบรรดาแกนนำแบบหวังผลในลักษณะที่สหรัฐฯ กำลังดำเนินการอยู่ในรอบหลายเดือนที่ผ่านมา แต่การส่งกำลังพลภาคพื้นดินเข้าบดขยี้กลุ่มไอเอสนั้น ยังเป็นเรื่องที่ต้องชั่งน้ำหนักในหลาย ด้านระหว่างสหรัฐฯ และพันธมิตรเสียก่อน เนื่องจากถือเป็นเรื่องใหญ่และส่งผลกระทบอย่างรุนแรงทั้งในประเทศและระดับโลก
การก่อการร้ายที่เกิดขึ้นในปารีส กำลังจะกลายเป็นประเด็นหลักในเวทีประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่มประเทศ จี 20 ในตุรกี ที่เริ่มต้นขึ้นวันนี้ (15 พ.ย. 2558) ซึ่งน่าติดตามว่าเวทีนี้จะมีข้อเสนอใหม่ ที่เป็นรูปธรรมในการปราบปรามกลุ่มไอเอสหรือไม่