ในภาพยนตร์เรื่องแฮร์รี่ พอตเตอร์ มังกรถือเป็นตัวละครที่สำคัญในหลายภาคไม่ว่าจะเป็น ฮังการีหางหนาม มังกรที่ดุร้ายที่สุดในการประลองเวทไตรภาคี ที่เกือบจะทำให้แฮร์รี่ เอาชีวิตไม่รอดในภาคที่ 3 แต่หากปราศจากการช่วยเหลืออย่างไม่ตั้งใจของมังกรในภาคสุดท้าย แฮร์รี่และ 2 สหายคงต้องจบชีวิตอยู่ใต้ซากของธนาคารกริงกอตส์ อำนาจที่เป็นได้ทั้งในทางสร้างสรรค์และทำลายของมังกร ยังคงถูกเล่าผ่านสื่อบันเทิงหลากหลายรูปแบบ
ขณะที่วัฒนธรรมตะวันตก มังกรเป็นตัวแทนสิ่งชั่วร้ายที่ถูกเล่ามาอย่างเนิ่นนาน การเป็นวายร้ายทั้งในคัมภีร์ไบเบิล และตำนานพื้นบ้าน ทำให้การฆ่ามังกรเป็นภารกิจของอัศวินในการกำจัดความชั่วร้าย ทุกวันนี้มีเกมมากมายที่โด่งดังด้วยการใช้มังกรเป็นคู่อาฆาตทั้ง world of warcraft, dragon age จนถึงตำนานธนูปักเข่าอย่าง skyrim ที่ผู้สวมบทอัศวินต้องสังหารมังกรนับไม่ถ้วนตลอดการเดินทางยันยาวนาน
แต่ในการ์ตูน มีมังกรมากมายที่เป็นมิตรสำหรับเด็กๆ ตั้งแต่มังกรที่คอยดูแลเด็กกำพร้าในผลงานคลาสสิกของดิสนีย์อย่าง pete's dragon แบบอย่างของการสร้างศัตรูให้เป็นมิตรระหว่างทายาทผู้นำเผ่าไวกิ้ง และมังกร ใน how to train your dragon และสไปค์ ลูกมังกรตัวเขียว ก็กลายเป็นตัวละครที่โด่งดังของการ์ตูน my little pony จนมีการสร้างตอนพิเศษเพื่อฉายในช่องเคเบิลของสหรัฐฯ ช่วงตรุษจีนนี้
ต่างจากวัฒนธรรมตะวันออกที่นับถือมังกรในฐานะเทพเจ้า เป็นสัญลักษณ์ของจักรพรรดิ และอวยพรโชคลาปแก่ผู้นับถือ ทำให้มังกรถูกถ่ายทอดในฐานะผู้ช่วยเหลือในผลงานของฝั่งเอเชียมากมาย ทั้ง มูชู มังกรร่างเล็กคู่หูของมู่หลาน ในการ์ตูนดังของดิสนีย์ หรือ ฮาคุ มังกรที่เป็นจิตวิญญาณแห่งสายน้ำใน spirited away แอนิเมชั่นระดับออสการ์ของญี่ปุ่นที่จะฉายในสหรัฐฯ อีกครั้งเดือนหน้านี้
แนวคิดด้านคุณธรรมของมังกร ถูกถ่ายทอดในสื่อตะวันตกมากขึ้น ทั้ง คิลการ์ราห์ พญามังกรผู้หยั่งรู้อนาคต ผู้ช่วยเหลือกษัตริย์อาร์เธอร์ และพ่อมด ใน merlin จนถึง 3 มังกรทายาทของ เดอแนร์ริส ทาแกร์เรียน เจ้าหญิงผู้ถูกเนรเทศ ซึ่งอยู่เคียงข้างเธอในการกู้บัลลังก์ในนิยายและซีรีส์สุดดังอย่าง game of thrones