ธปท.เล็งแผนบริหารหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ ให้ รมว.คลังพิจารณา
พระราชกำหนดการเงิน รวม 4 ฉบับ มีผลบังคับใช้แล้ววันนี้ (27 ม.ค.) ประกอบด้วยพระราชกำหนดการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ได้รับความเสียหายจากอุทกภัย, พระราชกำหนดกองทุนส่งเสริมการประกันภัยพิบัติ, พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลัง กู้เงินเพื่อวางระบบบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศ และพระราชกำหนดปรับปรุงการบริหารหนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน จำนวน 1.14 ล้านล้านบาท
นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย พอใจการแก้ไขเนื้อหาในพระราชกำหนดการบริหารหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ ระดับหนึ่ง หลังกระทรวงการคลังยอมตัดเนื้อหาบางส่วนในมาตรา 7 วรรค 3 ซึ่งให้อำนาจธนาคารแห่งประเทศไทยพิมพ์ธนบัตรเพื่อชำระหนี้ โดยเตรียมแผนบริหารการชำระหนี้ เสนอ รมว.คลัง พิจารณา 2 แนวทาง คือ ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐต้องไม่ดำเนินธุรกิจทับซ้อนธนาคารพาณิชย์ หากธนาคารเฉพาะกิจของรัฐทำธุรกิจแบบเดียวกัน ต้องนำส่งเงินสมทบเข้าสถาบันคุ้มครองเงินฝาก เช่นเดียวกับธนาคารพาณิชย์ ทั้งยังเตรียมหารือกับธนาคารพาณิชย์ เพื่อหาข้อสรุปอัตราเรียกเก็บเงินสมทบจากร้อยละ 0.4 ของฐานเงินฝาก ในจันทร์นี้ (30 ม.ค.) พร้อมยืนยันว่า แผนการชำระหนี้ดังกล่าวไม่ส่งผลกระทบต่อนโยบายการเงิน และไม่ผลักภาระไปยังประชาชน
ผู้บริหารธนาคารพาณิชย์แห่งหนึ่งยอมรับว่า ผลกระทบจากการบังคับใช้พระราชกำหนดฉบับนี้ทำให้ธนาคารอาจมีต้นทุนการเงินสูงขึ้นในการนำส่งเงินสมทบเข้าสถาบันคุ้มครองเงินฝาก ทำให้ผู้บริโภคมีทางเลือกในการออมเงินน้อยลง โดยเฉพาะกรณีของตั๋วเงิน เป็นผลิตภัณฑ์การเงินให้ผลตอบแทนสูงกว่าเงินฝาก เนื่องจากไม่ต้องจ่ายเงินสมทบสถาบันคุ้มครองเงินฝาก อีกทั้งยังส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ชะลอการปรับลง ทั้งที่แนวโน้มดอกเบี้ยเป็นขาลงก็ตาม