“Hymn” คีตะร่วมสมัยแห่งศรัทธาของ พงศ์พรหม สนิทวงศ์ ณ อยุธยา
บทสวดสันสกฤต ปุรานะ กาเนชา อัญเชิญพระคเณศ เทพเจ้าแห่งความสร้างสรรค์ ร้อยเรียงผ่านทำนองดนตรี โดยยังคงลักษณ์เอกลักษณ์ทั้งเสียงอ่าน และเครื่องดนตรีตันปุระของอินเดีย ที่มักใช้ในพิธีศักดิ์สิทธิ์อย่างครบถ้วน ส่วนหนึ่งของอัลบั้ม “Hymn” ผลงานเพลงจากความศรัทธาของ พงศ์พรหม สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ที่ใช้เวลาศึกษาโศลกและบทสวดกว่า 1,000 ชิ้น พร้อมค้นคว้าสอบถามจากผู้รู้ จนกลายเป็นผลงานดนตรีร่วมสมัยที่ตีความบทสวดโบราณอายุหลายพันปี ซึ่งไม่เพียงเป็นงานนมัสการพระพิคเณศอย่างตั้งใจ หากนี้ยังนับเป็นจุดเริ่มต้นค้นคว้าครั้งใหม่ของนักประพันธ์เพลงร่วมสมัยมือหนึ่งของเมืองไทยอีกด้วย
เกือบ 10 ปีที่แล้วนักประพันธ์เพลงหัวก้าวหน้าอย่าง พงศ์พรหม สนิทวงศ์ ณ อยุธยา เคยตั้งคำถามว่าสำ เนียงดนตรีกับเชื้อชาติอาจมีความเกี่ยวข้องกัน กลายเป็นที่มาของโครงการสำรวจและวิจัยดนตรีชาติพันธุ์ หรือ Usa Asli Genomusic Project เมื่อลงมือศึกษาข้อมูลในพื้นที่จริงนานกว่า 7 ปี ความรู้ที่ได้มีผลไม่น้อยต่องานดนตรีในยุคหลัง ที่เชื่อมโยงกลิ่นอายดนตรีหลากหลายชาติพันธ์เข้ากับงานร่วมสมัย ไม่ว่าจะเป็นเพลงนิทานแผ่นดินที่ใช้ประกอบรายการโทรทัศน์ทางไทยพีบีเอส หรือผลงานอัลบั้มส่วนตัวชื่ออี้ ที่หมายถึงความเปลี่ยนแปลง ทั้งนี้ การหันมาสนใจศึกษาโศลกและบทสวดทางศาสนาของพงศ์พรหม จึงเป็นเหมือนเป้าหมายของชีวิตทางดนตรีครั้งใหม่
ห้องทำงานที่เต็มไปด้วยอุปกรณ์ดนตรี และเครื่องมือสังเคราะห์เสียงอิเล็คทรอนิกส์ของพงศ์พรหม จึงไม่เพียงเป็นโฮมสตูดิโอขนาดย่อมที่ผลิตงานดนตรีในฐานะนักประพันธ์เพลงอาชีพ หากแต่ยังเป็นห้องค้นคว้าและทดลองผสมเสียงจากหลากหลายวัฒนธรรม ซึ่งเกิดขึ้นได้ในโลกทางดนตรีที่ไร้พรมแดนของพงศ์พรหม