ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ครม.อนุมัติปรับโครงสร้างเงินเดือนข้าราชการ ปวช.-ปริญญาเอก

การเมือง
31 ม.ค. 55
08:37
79
Logo Thai PBS
ครม.อนุมัติปรับโครงสร้างเงินเดือนข้าราชการ ปวช.-ปริญญาเอก

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบการปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการตั้งแต่ระดับปริญญาตรีถึงปริญญาเอก โดยให้มีผลตั้งแต่ 1 ม.ค.ที่ผ่านมา โดยปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการทั้งระบบตั้งแต่ระดับ ปวช. -ปริญญาเอก มีผลย้อนหลังตั้งแต่ 1 มกราคมปี 2555 นอกจากนี้ ครม.ยังเห็นชอบวันหยุดข้าราชการเป็นกรณีพิเศษในวันที่ 9 เม.ย.55

ครม.ยังได้เห็นชอบเรื่องการกำหนดวันหยุดและการไว้ทุกข์งานพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี โดยขอให้กำหนดให้วันจันทร์ที่ 9 เม.ย. 2555 เป็นวันหยุดราชการเป็นกรณีพิเศษ และขอความร่วมมือประชาชนในการไว้ทุกข์ในห้วงวันพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพระหว่างวันที่ 8-10 เมษายนนี้

ขณะเดียวกันที่ประชุมคณะรัฐมนตรีว่า ได้อนุมัติการปรับโครงสร้างเงินเดือนข้าราชการใหม่แบ่งเป็น 2 ปี  คือ ข้าราชการวุฒิ ปวช.จะมีเงินเดือนขั้นต่ำ 7,620 บาทขั้นสูง 8,080 บาท ในปีที่ 2 จะปรับเพิ่มเป็นเงินเดือนขั้นต่ำ 9,000 บาท อัตราขั้นสูง 9,900 บาท, ข้าราชการวุฒิ ปวส.ในปีที่ 1 จะมีเงินเดือนขั้นต่ำ 9,300 บาท ขั้นสูง 9,860 บาท ปีที่ 2 จะปรับเพิ่มเป็นเงินเดือนขั้นต่ำ 10,500 บาท ขั้นสูง 11,550 บาท,

ข้าราชการวุฒิปริญญาตรีในปีที่ 1 จะมีเงินเดือนขั้นต่ำ 11,680 บาท ขั้นสูง 12,390 บาท ในปีที่ 2 จะปรับเพิ่มเป็นเงินเดือนขั้นต่ำ 15,000 บาท ขั้นสูง 16,500 บาท, ส่วนข้าราชการวุฒิปริญญาโทจะมีเงินเดือนขั้นต่ำในปีที่ 1 จำนวน 15,300 บาท ขั้นสูง 16,220 บาท และในปีที่ 2 จะมีเงินเดือนขั้นต่ำ 17,500 บาท และ ขั้นสูง 19,250 บาท ส่วนปริญญาเอกเพิ่มจาก 19,000 บาทเป็น 21,000 บาท

ส่วนการปรับเงินเดือนชดเชยผู้ได้รับผลกระทบ 2 ครั้งดังกล่าวให้มีผลใช้บังคับย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2555 และ เพื่อให้ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายผู้เข้ารับราชการในตำแหน่งระดับแรกบรรจุ ก่อนวันที่มาตรการนี้มีผลบังคับอย่างน้อย 10 ปี ผลจากการปรับเงินเดือนชดเชยจะต้องไม่ทำให้ผู้ซึ่งเคยได้รับเงินเดือนสูงกว่า กลายเป็นผู้ได้รับเงินเดือนต่ำกว่าผู้ดำรงตำแหน่งในประเภทและระดับเดียวกันที่บรรจุในวุฒิเดียวกัน

ส่วนความเคลื่อนไหวของสมาชิกวุฒิสภา ( ส.ว.) ล่าสุดได้เข้าื่ชื่อจำนวน 68 คนยื่นประธานวุฒิสภาเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ พ.ร.ก.โอนหนี้กองทุนฟื้นฟูให้ธนาคารแห่งประเทศไทย ( ธปท.) โดยเห็นว่า ยังไม่มีความจำเป็นเร่งด่วน โดยรัฐบาลยังสามารถออกเป็น พ.ร.บ.ได้ 

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง