เรียกร้อง กสทช. ปลดล็อคโทรศัพท์มือถือพรีเพด
** คลิก อ่านแถลงการณ์ในไฟล์ Word **
เมื่อวันที่ 31 ม.ค. 55 สหพันธ์องค์กรผู้บริโภคและองค์กรเครือข่ายผู้บริโภค โดยนางสาวบุญยืน ศิริธรรม ประธานสหพันธ์องค์กรผู้บริโภคได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เร่งบังคับให้ ข้อ 11 ของประกาศ กทช. เรื่อง มาตรฐานสัญญาให้บริการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549 ซึ่งระบุให้ โทรศัพท์มือถือแบบชำระค่าบริการล่วงหน้า หรือแบบเติมเงิน ห้ามกำหนดระยะเวลาการใช้งาน ยกเว้นได้รับการอนุญาตจากคณะกรรมการ มีผลปฏิบัติจริง และให้ กสทช. เร่งปฏิบัติตามคำสั่งศาลปกครองกลาง เพื่อปลดล็อคปัญหาให้กับผู้บริโภคที่ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบชำระค่าบริการล่วงหน้ากว่า 60 ล้านคนทั่วประเทศ โดยขอให้ กสทช. เร่งพิจารณาแบบสัญญาฉบับใหม่ให้แล้วเสร็จ พร้อมชี้แจงและกำหนดเวลาที่จะแก้ไขปัญหานี้อย่างชัดเจนภายใน 15 วัน ไม่เช่นนั้น จะดำเนินการฟ้องต่อศาลในฐานะที่ กสทช. ละเมิดคำสั่งศาลปกครอง
เนื่องจากเมื่อเดือนสิงหาคม 2554 ศาลปกครองกลาง ได้มีคำพิพากษาคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่รัฐละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด หรือปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควร เนื่องจาก กทช. ในขณะนั้นใช้เวลาในการพิจารณาแบบสัญญาใหม่นานกว่า 3 ปี จนส่งผลให้ผู้ใช้บริการรายหนึ่งฟ้องต่อศาล เนื่องจากถูกบริษัทกำหนดระยะเวลาการใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ถูกระงับบริการและถูกยึดหมายเลขโทรศัพท์ โดยผู้ให้บริการอ้างว่า ได้ปฏิบัติตามสัญญาเดิมของการให้บริการ เนื่องจาก กทช. ยังพิจาณาสัญญาฉบับใหม่ไม่แล้วเสร็จ ศาลปกครองกลางจึงมีคำพิพากษาให้ กทช. ปฏิบัติหน้าที่ กสทช. เร่งพิจารณาแบบสัญญาโทรศัพท์เคลื่อนที่ประเภทเรียกเก็บค่าบริการล่วงหน้าของบริษัทให้แล้วเสร็จภายใน 90 วัน หรือกำหนดแบบสัญญามาตรฐานเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค
แถลงการณ์ระบุอีกว่า กสทช. ได้ทำงานจนผ่านระยะเวลาทดลองงานแล้ว ขณะที่ผู้บริโภคที่ใช้บริการโทรศัพท์มือถือแบบเติมเงินจำนวนมากกว่า 60 ล้านเลขหมายและเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ ยังต้องผจญอยู่กับปัญหา การถูกกำหนดระยะเวลาการใช้บริการ ถูกเร่งรัดให้ต้องใช้บริการ เช่น 10 บาท ใช้งานได้เพียง 1 วัน ซึ่งเท่ากับเป็นการบังคับว่า ผู้ใช้บริการโทรศัพท์มือถือแบบพรีเพดทุกคนต้องจ่ายเงินค่าสื่อสาร แม้จะใช้บริการหรือไม่ก็ตามเป็นเงินอย่างน้อย 10 บาทต่อวันให้กับบริษัทผู้ให้บริการ หากฝ่าฝืนก็จะถูกยึดเงิน ยึดหมายเลขโทรศัพท์ ทั้งที่การกำหนดดังกล่าวเป็นการทำผิดประกาศ กทช. เรื่อง มาตรฐานสัญญาให้บริการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549 มานานกว่า 6 ปีแล้ว จึงได้มีการออกแถลงการณ์เพื่อทวงถามแนวทางการแก้ปัญหาดังกล่าว