ปัจจัยขับเคลื่อน
ธุรกิจค้าปลีกในปี 2012 มีแนวโน้มเติบโตดี โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากความเชื่อมั่นและกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ปรับตัวดีขึ้น ซึ่งจะช่วยกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอย โดยเฉพาะในหมวดสินค้าคงทน ขณะที่ตลาดนักท่องเที่ยวเอเชียที่ยังเติบโตดีก็เป็นอีกปัจจัยสำคัญที่สนับสนุนธุรกิจค้าปลีก ความเชื่อมั่นผู้บริโภคกลับมาฟื้นตัวดีขึ้น ภายหลังจากสถานการณ์น้ำท่วมคลี่คลาย การปิดสาขาของห้างค้าปลีกและความไม่สะดวกในการเดินทางของผู้บริโภคในช่วงน้ำท่วม ส่งผลให้มี pent-up demand ค่อนข้างมาก ประกอบกับความต้องการสินค้าเพื่อฟื้นฟูและซ่อมแซมที่อยู่อาศัยและความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่กลับมาฟื้นตัวดีจะเป็นปัจจัยสนับสนุนยอดขาย ของห้างค้าปลีก โดยเฉพาะสินค้าในหมวดที่อยู่อาศัยและสินค้าตกแต่งบ้านซึ่งมีสัดส่วนถึงราว 1 ใน 4 ของค่าใช้จ่ายทั้งหมดของครัวเรือนที่อาศัยอยู่ในแถบกรุงเทพฯ และปริมณฑลรวมถึงพื้นที่ภาคกลาง
ราคาสินค้าเกษตรสำคัญ โดยเฉพาะข้าวที่ยังอยู่ในเกณฑ์ดีจะผลักดันให้การใช้จ่ายฟื้นตัวดีขึ้น โดยเฉพาะหมวดสินค้าคงทน โดยราคาสินค้าเกษตรสำคัญ ได้แก่ ข้าว น้ำตาล ที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นในปี 2012 จะส่งผลให้รายได้เกษตรกรฟื้นตัวซึ่งจะช่วยกระตุ้นกำลังซื้อของผู้บริโภคทำให้ความต้องการจับจ่ายใช้สอยมีมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งความต้องการสินค้าคงทนต่างๆ อาทิ เครื่องใช้ไฟฟ้า เฟอร์นิเจอร์ และเครื่องใช้ในบ้าน
ทั้งนี้ จะพบว่าราคาพืชผลเกษตรมีความสัมพันธ์กับดัชนีค้าปลีกในหมวดสินค้าคงทนสูงถึง 70% (รูปที่ 1) ดังนั้น หากราคาพืชผลเกษตรยังมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น จะช่วยสนับสนุนให้ยอดขายเครื่องใช้ไฟฟ้าและเครื่องใช้ในบ้านต่างๆ ขยายตัวดี
…เช่นเดียวกับการปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการจะส่งผลให้ความต้องการใช้จ่ายซื้อสินค้าคงทนเพิ่มขึ้นด้วย โดยข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนของสำนักงานสถิติแห่งชาติพบว่า ผู้บริโภคที่มีรายได้สูงขึ้นมีการใช้จ่าย ในหมวดสินค้าคงทนเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยหากผู้บริโภครายได้ปรับสูงขึ้นจากที่ต่ำกว่า 15,000 บาทเป็นมากกว่า 15,000 บาท จะมีการใช้จ่ายเกี่ยวกับของใช้ในบ้านและเครื่องแต่งบ้าน อาทิ เฟอร์นิเจอร์ เครื่องนอน และเครื่องใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นมาก กว่าเดิมถึงราว 5 เท่า
ส่วนหนึ่งเนื่องมาจากการปรับเพิ่มขึ้นของรายได้มาสู่ระดับรายได้ขั้นต่ำ (15,000 บาท) ที่สามารถสมัครบัตรเครดิตได้ ทำให้การใช้จ่ายมีความคล่องตัวมากขึ้น ขณะที่การใช้จ่ายเกี่ยวกับอาหารยังมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง แต่อาจจะไม่หวือหวามากนัก โดยรายได้ที่เพิ่มขึ้นจะทำให้ผู้บริโภคมีการจับจ่ายเกี่ยวกับอาหารเพิ่มขึ้นราว 1.5 เท่า นักท่องเที่ยวจากเอเชียยังมีแนวโน้มขยายตัวจะผลักดันให้ธุรกิจค้าปลีกเติบโตดี
โดยจำนวนนักท่องเที่ยวจากเอเชียซึ่งมีสัดส่วนราว 40% ของนักท่องเที่ยวทั้งหมดยังมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากจีนและฮ่องกงซึ่งมีสัดส่วนราว 10% ของนักท่องเที่ยวทั้งหมดเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในไทยเพิ่มขึ้นมากกว่า 50% ในปี 2011 และคาดว่าในปี 2012 ยังมีแนวโน้มเติบโตดีต่อเนื่องซึ่งจะผลักดันให้ธุรกิจค้าปลีกขยายตัวดีเนื่องจากนักท่องเที่ยวจีนและฮ่องกงมีการจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้น โดยยอดการใช้จ่ายโดยเฉลี่ยต่อหัวอยู่ที่ประมาณ 146 ดอลลาร์สหรัฐต่อคนต่อวันซึ่งมากกว่าค่าเฉลี่ยของการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวโดยรวมที่อยู่ที่ประมาณ 130ดอลลาร์สหรัฐต่อคนต่อวัน ทั้งนี้ เป็นที่สังเกตว่าสัดส่วนการใช้จ่ายด้านการ shopping ของนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้สูงถึงราว 30% ของการใช้จ่ายทั้งหมดและยังสูงกว่าค่าใช้จ่ายในด้านที่พักอีกด้วย
แนวโน้มการบริโภคและกำลังซื้อที่ฟื้นตัวส่งผลให้การขยายสาขาของธุรกิจค้าปลีกmodern trade ยังเติบโตได้ต่อเนื่อง โดยเฉพาะในพื้นที่ต่างจังหวัดซึ่งมีกำลังซื้อสูงและ
แถบชานเมืองกรุงเทพฯ ที่มีการเติบโตไปพร้อมกับการขยายตัวของที่อยู่อาศัยสอดคล้องกับ แผนการขยายสาขาของธุรกิจค้าปลีก modern trade ที่ยังมีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในปี 2012 ทั้งใน
ส่วนของ hypermarket ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นอีกราว 10 สาขาและห้างสรรพสินค้า ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นราว 4-5 สาขา นอกจากนี้ ยังเป็นการขยายสาขาของร้านค้าปลีกขนาดเล็กหรือร้านสะดวกซื้อ (convenience stores) ที่มีแนวโน้มเติบโตอย่างก้าวกระโดด โดยคาดว่าจะเพิ่มขึ้นมากกว่า 900 แห่ง โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่ต้องการความสะดวกรวดเร็ว ทำให้นิยมซื้อสินค้าใกล้บ้าน อีกทั้งทำเลของร้านค้าปลีกขนาดเล็กไม่มีข้อจำกัดเรื่องกฎหมายผังเมืองทำให้ สามารถหาพื้นที่ที่เหมาะสมได้ง่ายกว่าและอาศัยเงินลงทุนไม่มากนัก