ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

วงใน "เวทีปรองดอง ศปป." นักการเมืองเห็นพ้อง เลือกตั้งช้า ดีกว่ามีกติกาไม่ดี

การเมือง
23 เม.ย. 58
16:49
108
Logo Thai PBS
วงใน "เวทีปรองดอง ศปป." นักการเมืองเห็นพ้อง เลือกตั้งช้า ดีกว่ามีกติกาไม่ดี

ศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูป (ศปป.) เชิญตัวแทนพรรคการเมือง นักวิชาการ แกนนำมวลชนมาหารือและร่วมแสดงความคิดเห็นเพื่อให้เกิดความสมานฉันท์ที่สโมสรกองทัพบก ถนนวิภาวดีรังสิต ช่วงสายของวันนี้ (23 เม.ย.2558) ด้วยการให้ทหารไปส่งหนังสือเชิญถึงบ้าน เชิญแบบฉุกละหุก และผู้ถูกเชิญไม่เป็นเบอร์ใหญ่ของพรรคการเมืองและกลุ่มการเมืองคู่ขัดแย้ง ก็เป็นนักวิชาการฝีปากกล้า ออกมาวิจารณ์การเมืองช่วง คสช.เรืองอำนาจแบบเผ็ดร้อน จึงเกิดความหวาดระแวงว่า คสช.กำลังจะปรับทัศนคติคนเหล่านี้อีกรอบหนึ่ง

ตัวแทนพรรคการเมืองทั้งพรรคใหญ่และพรรคขนาดกลาง ระดับหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรค รวมทั้งแกนนำมวลชนมาร่วมวงเสวนานี้หลายคน เช่นเดียวกับนักวิชาการทั้งที่แสดงจุดยืนทางการเมืองชัดเจนและที่แสดงออกว่าไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด มาร่วมเสวนาประมาณ 40 คน จากที่ ศปป.เชิญมาทั้งหมด 83 คน ผู้ร่วมประชุมบางคนต้องข้อสังเกตว่าแกนนำกลุ่ม กปปส.ไม่ปรากฏตัวในวงเสวนานี้

ขณะที่ผู้ร่วมประชุมหลายคนพูดถึงเรื่องการเชิญที่ส่งทหารในเครื่องแบบไปถึงที่บ้านและรูปแบบตลอดจนสถานที่ทำให้กังวลว่าจะเป็นการเชิญมาเพื่อปรับทัศนคติ ซึ่งประธานการประชุม พล.อ.ฉัตรเฉลิม เฉลิมสุข เสนาธิการทหารบกและเลขาธิการกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน ยืนยันว่าไม่ใช่เป็นการปรับทัศนคติหรือต้องการควบคุมตัวแต่อย่างใด พร้อมทั้งขออภัยที่การส่งหนังสือเชิญสร้างความไม่สบายใจ จากนั้นก็ทักทายผู้เข้าร่วมประชุม

"วันนี้เราประชุมกันที่ห้องมัฆวานรังสรรค์ ไม่ใช่ห้องชมัยมรุเชฐ ตอนวันที่ 21 -22 พฤษภาคมปีที่แล้ว คงจำได้ดีใช่มั้ย แต่วันนี้ไม่ใช่แบบนั้นนะ"

ที่ประชุมเริ่มจากการนำเสนอเหตุการณ์ความขัดแย้งในรอบ 10 ปีที่ผ่านมาจากนั้นจึงเริ่มวาระของการแสดงความคิดเห็น

"มีชาวบ้านผู้อาวุโสคนหนึ่งเดินมาจับมือผมแล้วบอกว่า 'ดีมากนะ' ผมถามว่าดีมากคืออะไร เขาตอบว่า 'ดีมากที่พรรคการเมืองใหญ่ 2 พรรคจับมือกันเพื่อต้านเผด็จการ' นี่คือสิ่งที่ต้องนำไปคิด" หัวหน้าพรรคการเมืองใหญ่ที่อยู่ในที่ประชุมเปิดประเด็น

จากนั้นผู้บริหารพรรคการเมืองที่ฝ่ายตรงข้ามลุกขึ้นกล่าวต่อโดยบอกว่ารัฐประหารเขาเห็นตรงกับนักการเมืองฝ่ายตรงข้าม

"ที่ผมคิดมาตรงกับคุณ...ไม่น้อยเลย ซึ่งแปลกมากตั้งแต่ 22 พฤษภาคม ปีที่แล้วเป็นต้นมา ท่าน (คสช.) ทำให้ผมกับคุณ......เห็นตรงกันมาก"

จากนั้นผู้ร่วมเสวนาได้พูดถึงบริบทของความขัดแย้งซึ่งส่วนใหญ่ระบุว่า มีที่มาจากความรู้สึกไม่ได้รับความเป็นธรรม ความเหลื่อมล้ำ ซึ่งต้องมองสาเหตุความขัดแย้งให้ออก ต้องดูให้ชัดๆ ว่าคู่ขัดแย้งคือใคร

"นปช.กับพันธมิตรฯ หรือ กปปส.ไม่ใช่คู่ขัดแย้ง เพื่อไทยกับประชาธิปัตย์ก็ไม่ใช่คู่ขัดแย้ง แต่ที่ขัดแย้งกันยาวนานก็คือ ฝ่ายอนุรักษ์นิยมกับฝ่ายเสรีนิยมต่างหาก และถ้ากวาดฝ่ายที่คิดว่าเป็นคู่ขัดแย้งออกไปจนหมดก็จะมีกลุ่มอื่นๆ เกิดขึ้นตามมาอีกอย่างไม่รู้จบ" แกนนำมวลชนฝีปากกล้าบนเวทีชุมนุมแสดงความเห็น

อีกหนึ่งประเด็นที่มีการถกกันก็คือเรื่องการห้ามแสดงความเห็น ซึ่ง คสช.ระบุว่า ไม่อยากให้มีการแสดงความเห็นแบบไม่สร้างสรรค์โดยเฉพาะการแสดงความเห็นผ่านสื่อ แต่ผู้ร่วมเสวนาส่วนหนึ่งไม่เห็นด้วย

"ถ้าปล่อยให้พูดฝ่ายเดียว จะเกิดการอัดอั้น การแก้ปัญหาบ้านเมืองต้องเกิดจากการสื่อสารออกไปสู่สังคม ถ้าไม่ให้คนเสนอความเห็นต่างผ่านสื่อจะเป็นอันตราย แล้วที่บอกว่าถ้าไม่มีความเห็นต่างการทำงานของ คสช.จะราบรื่นขึ้น  ที่ผ่านมา ความขัดแย้งบางช่วงเกิดจากบางฝ่ายรู้สึกว่าพวกตนแสดงออกได้น้อยกว่าอีกฝ่ายทำให้เกิดความโกรธแค้นรุนแรง"

ประเด็นนี้มีข้อเสนอจากฝ่ายการเมือง ที่ฝ่าย คสช.มีทีท่าสนใจ

"เรามาคุยกันสิครับ ว่าแค่ไหนที่จะทำให้ไม่สบายใจ แค่ไหนไม่สร้างสรรค์ ถ้าพูดรุนแรงปลุกระดมให้เกิดคว่ามไม่สงบก็จัดการได้เลย"

นอกจากนี้ยังมีความเห็นเรื่องสาเหตุความขัดแย้งจากผู้เข้าร่วมประชุมซีกการเมืองไปในทิศทางเดียวกันว่า ความขัดแย้งที่จะเกิดขึ้นตามมาหลังจากนี้อาจมีสาเหตุจากร่างรัฐธรรมนูญ ที่สปช.กำลังอภิปรายให้ความเห็น

"หากร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ยกร่างกันอยู่นำไปใช้จะเป็นปัญหาใหญ่ต่อไป จะสร้างความขัดแย้งอย่างที่ประเทศไทยไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน จะไม่สามารถประเมินค่าความเสียหายได้" แกนนำมวลชนระบุพร้อมทั้งสำทับว่า "พูดกันแฟร์ๆ เดินหน้ารัฐธรรมนูญร่างนี้ไปเลยครับ พวกผมคว่ำกันสะดวก"

ตัวแทนจากพรรคการเมืองอีกหลายคนต่างแสดงความเห็นต่อเรื่องรัฐธรรมนูญไปในแนวทางเดียวกัน

"การทำประชามติ เป็นสิ่งเดียวที่จะระงับความแตกแยก ประชาชนคว่ำร่าง คสช.ก็อยู่ต่อไปแล้วร่างใหม่ แต่ถ้าจะเดินหน้าแบบนี้ ท่านเอาสถานการณ์ประเทศไทยไม่อยู่แน่นอน"

"ผมยอมเสียเวลาเป็นปีที่จะไม่มีการเลือกตั้ง ถ้าท่านจะอยู่ต่อเพื่อทำให้รัฐธรรมนูญเป็นประชาธิปไตย ถ้าปล่อยรัฐธรรมนูญเป็นแบบนี้ คือการเริ่มต้นความแตกแยกอย่างที้ไม่เคยมีมาก่อน" แกนนำมวลชนคนเดียวกันระบุ

จากนั้น หัวหน้าพรรคการเมืองหนึ่งเสริมว่า "ท่าน (คสช.) อย่าบอกว่าเหนื่อยหรือไม่เหนื่อย ระหว่างเลือกตั้งเร็วกับเลือกตั้งดี ผมเลือก เลือกตั้งดี จะเสียเวลาอีกหน่อยก็ไม่น่าจะเป็นอะไร"

ผู้บริหารพรรคการเมืองอีกพรรคหนึ่งก็มีความเห็นต่อรัฐธรรมนูญและการเลือกตั้งสอดคล้องกัน เขากล่าวว่า "อย่ารีบเลือกตั้งเลย ถ้ากติกายังไม่ดี เรานักการเมืองรอได้ เราไม่อยากเห็นประเทศเดินไปสู่เหว ถ้าหากจะต้องรอเพื่อให้ประเทศไปสู่ปฏิรูป ปรองดอง สมานฉันท์ เชื่อว่าคนไทยรอได้ เสียเวลามาเป็น 10 ปี แล้ว เสียเวลาอีก 2-3 ปีเชื่อว่าคนไทยรอได้ หัวหน้าผมฝากมาว่ายินดีสนับสนุนและยินดีที่จะรอ หากจะมีรัฐธรรมนูญที่ประชาชนมีส่วนร่วมและเป็นประชาธิปไตย"

ด้านตัวแทนพรรคการเมืองและแกนนำมวลชนที่สนับสนุนพรรคการเมืองบางพรรคนำเสนอประเด็น การร่างรัฐธรรมนูญว่า อย่าทำเหมือนกับร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 ที่มุ่งจัดการกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งหรือพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง

"ท่านเชื่ออย่างนั้นจริงๆ หรือว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้มุ่งจะทำลายพรรคการเมือง" คำถามจากประธานการเสวนาถามคำถามนี้ไม่ต่ำกว่า 2 ครั้ง และยังถามด้วยว่า "ท่านยังเชื่ออยู่อีกหรือว่าพวกผมจะทำร้ายพรรคการเมืองใดพรรคหนึ่ง"

ซึ่งผู้เข้าร่วมเสวนาจากพรรคการเมืองหนึ่งตอบว่า "ผมไม่เชื่อว่าท่านคิดจะทำอย่างนั้น แต่สื่อต่างชาติ คอลัมนิสต์ แสดงความเห็นแบบนี้ ขอให้ท่านพิจารณาดู"

อีกคำถามหนึ่งจาก "หัวโต๊ะ" หลังจากฝ่ายการเมืองวิพากษ์ร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่กรรมาธิการยกร่างฯ เสนอต่อ สปช.

"แล้วทำไมท่านไม่ลงสมัครเป็นสมาชิก สปช. จริงๆ เราเสียเวลาไปมากแล้ว นักการเมืองน่าจะไปร่วมร่างรัฐธรรมนูญตั้งแต่แรก"

และนี่คือคำตอบจากฝ่ายการเมืองในห้องประชุม

"สังคมมองนักการเมืองเป็นปฏิกูล เป็นปัญหา เราเข้าไปก็จะยิ่งเป็นปัญหา"

"เราเป็นคู่ขัดแย้ง เพราะฉะนั้นคู่ขัดแย้งไม่ควรไปร่างกติกา"

"ที่ว่าเข้าไปก็ไม่มีใครว่ามาเพื่อร่างรัฐธรรมนูญเอื้อต่อตัวเอง นี่ขนาดไม่ได้เข้าไปยังโดนด่าว่าเสียประโยชน์จึงไม่เห็นด้วย"

และแบบไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ย "หัวโต๊ะ" ก็ถามขึ้นว่า "หากรัฐธรรมนูญผ่านความเห็นชอบและต้องใช้เป็นกติกาในการเลือกตั้ง ท่านจะลงเลือกตั้งหรือเอาคนมาคัดค้านหรือไม่"  คำตอบที่ได้ จากฝ่ายการเมืองคือ "ยังเร็วเกินไปที่จะตอบ เพราะร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังไม่เสร็จ ยังอยู่ระหว่างปรับแก้"


ข่าวที่เกี่ยวข้อง