ศาลรัฐธรรมนูญรับพิจารณา พ.ร.ก.กู้เงิน
ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องกรณีประธานสภาผู้แทนราษฎรส่งความเห็นของ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ 128 คน ให้พิจารณาวินิจฉัยพระราชกำหนดกู้เงิน 2 ฉบับ ได้แก่ พ.ร.ก.โอนหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ และ พ.ร.ก.กู้เงิน เพื่อการวางระบบบริหารจัดการน้ำ ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 184 วรรค 1 และวรรค 2 หรือไม่ โดยคาดว่าต้นสัปดาห์หน้าจะนำเข้าสู่การพิจารณาในที่ประชุมคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้
ขณะที่การประชุมสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวานนี้ (1 ก.พ.) เป็นการพิจารณาพระราชกำหนดกู้เงินอีก 2 ฉบับที่ไม่ได้ถูกยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ ได้แก่ พ.ร.ก.กองทุนส่งเสริมการประกันภัยพิบัติ และ พ.ร.ก.การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ได้รับความเสียหายจากอุทกภัย ซึ่งฝ่ายค้านยังคงอภิปรายในภาพรวมของ พ.ร.ก.กู้เงิน ทั้ง 4 ฉบับ
นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.ตรัง พรรคประชาธิปัตย์ ระบุว่า การที่รัฐบาลออก พ.ร.ก.เงินกู้ ทั้ง 4 ฉบับ ถือว่าเป็นการรวบอำนาจไว้ที่คณะรัฐมนตรี และยึดอำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติไป
ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ยืนยันว่า หลักการและเหตุผลของการออก พ.ร.ก.ทั้ง 4 ฉบับไม่ขัดรัฐธรรมนูญ โดยเปรียบเทียบกับการออก พ.ร.ก.กู้เงิน สมัยรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ ที่ทำเพื่อแก้ไขวิกฤตเศรษฐกิจ โดยให้กรรมการกฤษฎีกาคนเดียวกันยกร่างวิธีการและหลักการเหมือนเดิม
สำหรับการประชุมสภาผู้แทนราษฎรในวันนี้ (2 ก.พ.) มีกระทู้ถามสดของ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ต่อความเหมาะสมในการตั้งนางนลินี ทวีสิน เป็น รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และกระทู้ถามปัญหานโยบายการขายหุ้นบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) โดยฝ่ายค้านยืนยันให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มาตอบกระทู้ด้วยตัวเอง หลังเลื่อนวาระกระทู้ถามสดมาจากสัปดาห์ที่แล้ว
ขณะที่นางผาณิต นิติทัณฑ์ประภาศ ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน เปิดเผยถึงการทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้ชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกระบวนการคัดเลือกบุคคลเพื่อแต่งตั้งนางนลินี ทวีสิน และนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เป็นรัฐมนตรี หลังรับเรื่องร้องเรียนขั้นตอนพิจารณาตรวจสอบพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลทั้ง 2 คน โดยขอให้นายกรัฐมนตรีแจ้งกลับมายังสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือดังกล่าว