อดีตประธานหมอชนบท ทำจดหมายเปิดผนึก ถึงรัฐมนตรีวิทยาและคนที่อยู่แดนไกล

สังคม
2 ก.พ. 55
08:14
38
Logo Thai PBS
อดีตประธานหมอชนบท ทำจดหมายเปิดผนึก ถึงรัฐมนตรีวิทยาและคนที่อยู่แดนไกล

นายแพทย์วชิระ บถพิบูลย์  อดีตประธานชมรมแพทย์ชนบท ส่งจดหมายเปิดผนึกถึงนายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า เห็นการทำงานของกระทรวงสาธารณสุขวันนี้แล้วเศร้าใจ  ทั้งการเมืองมือใหม่ที่ยังมีกรอบความคิดการทำงานแบบเก่า มุ่งแต่จะไปเกี่ยวข้องกับการใช้งบมากกว่าจะไตร่ตรองการใช้ก้อนเงินนี้เพื่อประโยชน์ต่อการสร้างโอกาสการเข้าถึงบริการของประชาชนอย่างไร “หว่านพืชเช่นไรจะได้ผลเช่นนั้น” “เรือดีไม่เอามาขี่ข้าม ดันเอาเรือรั่วน้ำมาข้ามขี่” ไม่ทราบจะเอาทั้งสองสุภาษิตนี้มาเตือนรัฐมนตรี อย่างไร  การแต่งตั้งบอร์ดสปสช. เห็นได้ชัดว่า การเมืองมองบอร์ดสปสช. เยี่ยงบอร์ดรัฐวิสาหกิจ การแต่งตั้ง นพ.ประดิษฐ์ สินธวณรงค์ กรรมการผู้จัดการเดคคอร์ มาร์ท นักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เครือแสนสิริและบอร์ดการบินไทย!  ในสัดส่วนของผู้ทรงคุณวุฒิดานการแพทย์แผนไทยยังไม่มีคำอธิบายที่รับฟังได้จากการแถลงของรัฐมนตรี สุ่มเสี่ยงต่อการถูกตรวจสอบยิ่งนัก หรือ นอ. นพ. อิทธิพร คณะเจริญ อีกคนที่เข้ามาในสัดส่วนของผู้ทรงคุณวุฒิด้านสังคม ซึ่งไม่เคยได้ยินว่ามีประวัติทำงานด้านสังคมที่เกี่ยวข้องกับคนด้อยโอกาส นอกจากเป็นที่ปรึกษากรรมาธิการทางการเมืองนับสิบคณะ ทั้งที่มีนักวิชาการด้านสังคมอีกมากที่มีความรู้ความสามารถและทำงานเพื่อคนด้อยโอกาสมาตลอด

ผสมเข้ากับอดีตนายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชนอย่าง นพ.เอื้อชาติ กาญจนพิทักษ์  หรือหุ้นส่วน รพ. เอกชนอย่าง นพ.พินิจ หิรัญโชติและ พญ.สมศรี เผ่าสวัสดิ์ ประธานกรรมการบริหาร รพ.สมิตติเวช ศรีราชา จึงอยากจะกล่าวว่า กองทุน  สปสช. ที่มีเงินมากกว่าแสนล้านบาทต่อปี  กำลังเผชิญกับภาวะ “ ฝนตกขี้หมูไหล สังคมไทยต้องรู้ทัน”  จวบจนขณะนี้ยังมองไม่เห็นว่ามีข้อเสนอดีๆ จาก รมต. ที่ประชาชนได้รับฟังแล้วจะรู้สึกมีความหวังว่าจะมีอะไรดีกว่าเดิม ทั้งที่เดิมประชาชนได้รับโอกาสรับบริการดีๆ เช่น การผ่าตัดหัวใจ, การผ่าตัดต้อกระจก, การล้างไตทางช่องท้องและทางเลือด, การปลูกถ่ายอวัยวะ

ล่าสุดข่าวแจ้งว่า นพ.เอื้อชาติ เสนอในบอร์ดให้ทบทวนหยุดโครงการผ่าตัดต้อกระจกปีละแสนรายลง (ปี 2552 ผ่าตัดได้ 98,236 ราย ปี 2553 ผ่าตัด 114,933 ราย และปี 2554 มากถึง 122,064 ราย) ทั้งที่เป็นโครงการร่วมระหว่างรัฐกับเอกชนที่ไม่แสวงหากำไรหลายแห่ง โดยอ้างว่าความต้องการลดลง และเพิ่มภาระให้กับรพ. ของรัฐ ฟังดูน่าเคลือบแคลงสงสัยในจุดยืนยิ่งนัก ว่าข้อเสนอทบทวนที่สวนทางกับความต้องการของประชาชนเช่นนี้เพื่ออะไร? หากประธานบอร์ดเห็นด้วยคงต้องบอกว่า “นักการเมืองเพื่อไทย ชอบอ้างประชาธิปไตย แต่หัวใจเพื่อ รพ. เอกชน” ซะแล้ว อีกไม่นานกระแสการตรวจสอบกระทรวงสาธารณสุขคงจะแรงขึ้นเรื่อยๆ คำร้องขอโอกาสและเวลาในการทำงานของบอร์ด สาธารณะเชื่อว่าเป็นเดิมพันกับความเสี่ยงที่สูงยิ่งนัก ไม่นาน คงจะมีอะไรทยอยออกมาให้ดูอีก หากคนที่อยู่แดนไกลยังปล่อยให้รัฐมนตรีแถวสามใช้งานเด็กสร้างบ้านสร้างความวุ่นวายให้กับระบบบัตรทองต่อไปอีก
 
 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง