สัญญาณบวกหลังการประชุม COP21 ประเทศมหาอำนาจตั้งเป้าลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก-เน้นใช้พลังงานหมุนเวียน
ย้อนกลับไปเมื่อปี 2531 องค์การสหประชาชาติ จัดตั้งคณะกรรมาธิการระหว่างประเทศว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ (IPCC) เพื่อศึกษาและรวบรวมข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ เกี่ยวกับผลกระทบของภาวะโลกร้อน และมีการจัดการประชุม Earth Summit ขึ้นที่นครริโอ เดอ จาเนโร ของบราซิล เมื่อปี 2535 จัดตั้งภาคีอนุสัญญาแห่งสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ (UNFCCC) ขึ้น เรียกร้องให้ชาติสมาชิกลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยสมัครใจ ปี 2540 ชาติสมาชิกการประชุมว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ เจรจาอย่างหนักจนได้พิธีสารเกียวโต ตั้งเป้าให้ชาติพัฒนาแล้วลดการปล่อยกก๊าซเรือนกระจกจากระดับปี 2533 ให้ได้ร้อยละ 5.2 แต่ไม่ได้ครอบคลุมถึงประเทศกำลังพัฒนาอย่างจีน อินเดีย และบราซิล เป็นที่มาที่ทำให้เกิดการโต้เถียงกัน โดยเฉพาะรัฐบาลสหรัฐ ที่มองว่าพิธีสารเกียวโต ไม่ยุติธรรมต่อชาติพัฒนาแล้ว
ความพยายามในการลดโลกร้อนแทบจะหยุดชะงัก เพราะการประชุมปี 2552 ที่โคเปนเฮเก้น เกือบจะเป็นหายนะ เมื่อประเทศยากจนกับประเทศที่ร่ำรวยถกเถียงกันอย่างเผ็ดร้อนเรื่องความรับผิดชอบแต่สุดท้ายก็ต้องข้อสรุปเบื้องต้น นั่นคือจำกัดการเพิ่มอุณหภูมิโลกไม่เกิน 2 องศาเซลเซียส กลายเป็นเป้าหมายของการประชุม COP21 ครั้งต่อ ๆ มา รวมทั้งการประชุมครั้งนี้ จากข้อมูลพบว่าปัจจุบันประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงที่สุดในโลก คือ จีน คิดเป็นร้อยละ 22.4 ขณะที่สหรัฐอเมริกา ที่เคยเป็นผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดในโลก กระทั่งจีนแซงหน้าไปในปี 2549 ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากเป็นอันดับ 2 คิดเป็นร้อยละ 12.2 ตามมาด้วยสหภาพยุโรป 28 ประเทศเป็นอันดับ 3 ร้อยละ 8.7 ของทั้งโลก รองลงมาคืออินเดีย รัสเซีย อินโดนีเซีย บราซิล ญี่ปุ่น แคนาดา และเม็กซิโก
ในการประชุมครั้งนี้ ถือเป็นทิศทางที่ดีที่ประเทศต่าง ๆ แสดงความจำนงปรับลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง เช่นสหรัฐอเมริกา ประกาศจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากระดับปี 2548 ลงร้อยละ 26 - 28 ภายในปี 2568 ซึ่งหากพิจารณาจากนโยบายของรัฐบาลสหรัฐในปัจจุบัน ถือว่าเป็นเป้าหมายที่มีโอกาสประสบความสำเร็จได้สูงมาก ส่วนจีนจะลดระดับความเข้มข้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากระดับปี 2548 ให้ได้ร้อยละ 60 - 65 สัญญาจะเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนเป็นร้อยละ 20 และเพิ่มพื้นที่ป่า ซึ่งมีแนวโน้มประสบความสำเร็จ เนื่องจากปัจจุบันจีนจำกัดการใช้ถ่านหินและกลายเป็นประเทศที่ใช้พลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก
อินเดียประกาศจะลดความเข้มข้นในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากระดับปี 2548 ลงร้อยละ 33-35 ให้ในปี 2573 และจะใช้พลังงานสะอาดขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจ สหภาพยุโรป ให้คำมั่นจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงจากระดับปี 2533 ให้ได้ร้อยละ 40 ภายในปี 2573 ผ่านระบบซื้อขายโควต้าการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพิ่มการใช้พลังงานหมุนเวียน และบังคับใช้มาตรการประหยัดพลังงานอย่างเข้มข้นในทุกประเทศสมาชิก ส่วนบราซิลเป็นประเทศอุตสาหกรรมใหม่ประเทศแรก ที่สัญญาจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากระดับปี 2548 ให้ได้ร้อยละ 37 ภายในปี 2568 ทั้งยังวางแผนจะปราบปรามการลักลอบตัดไม้ และเพิ่มการปลูกป่า และจะเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนอื่นนอกเหนือจากจากการใช้ไฟฟ้าพลังงานน้ำด้วย