ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ย้อนปมค่าหัวคิว ตรวจสอบโรงหล่อรับงานโครงการอุทยานราชภักดิ์

2 ธ.ค. 58
15:41
535
Logo Thai PBS
ย้อนปมค่าหัวคิว ตรวจสอบโรงหล่อรับงานโครงการอุทยานราชภักดิ์

ต้นตอของการตรวจสอบโครงการอุทยานราชภักดิ์เริ่มต้นที่การออกมาเปิดเผยเรื่อง "ค่าหัวคิว" ในการหล่อพระรูปพระมหากษัตริย์ในอุทยานราชภักดิ์ ซึ่ง พล.อ.อุดมเดช เคยยอมรับเรื่องนี้ และเป็นเหตุผลให้นายทหารคนสนิทถูกออกหมายจับคดีหมิ่นสถาบัน อะไรคือเบื้องหลังของเรื่องนี้และโรงหล่อจ่ายค่าหัวคิวจริงหรือไม่ ทีมข่าวไทยพีบีเอสเดินทางไปตรวจสอบโรงหล่อที่ถูกคัดเลือกจาก ทบ.ในการหล่อพระรูปของพระมหากษัตริย์ในโครงการอุทยานราชภักดิ์

การจัดสร้างโครงการอุทยานราชภักดิ์มีโรงหล่อจำนวน 6 แห่งที่ถูกคัดเลือกจากกองทัพบกให้เป็นผู้หล่อพระรูปของพระมหากษัตริย์จำนวน 7 พระองค์ ก่อนจะนำไปประดิษฐ์ที่อุทยานราชภักดิ์ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ แต่เกิดข้อครหาว่าโรงหล่อเหล่านี้ถูกหักค่าหัวคิวจากผู้ประสานงานหรือไม่ ทีมข่าวไทยพีบีเอสลงพื้นที่ไปพูดคุยกับผู้ประกอบการโรงหล่อ 2 แห่ง แห่งหนึ่งอยู่ที่ จ.ปทุมธานี ส่วนอีกหนึ่งอยู่ที่ จ.พระนครศรีอยุธยา พวกเขาต่างยอมรับว่ารู้จักเซียนพระที่มีหน้าที่เป็นผู้ประสานงานในโครงการอุทยานราชภักดิ์

เมื่อทีมข่าวเดินทางไปที่โรงหล่อแห่งหนึ่งใน จ.ปทุมธานี ที่ได้รับการทาบทามให้หล่อพระรูปสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ด้านหน้าโรงหล่อยังมีป้ายประกาศให้เห็นว่าเป็นผู้หล่อพระรูปในโครงการอุทยานราชภักดิ์เมื่อเข้าไปสอบถามรายละเอียดได้รับแจ้งว่าผู้ประกอบการไม่อยู่และไม่พร้อมให้ข้อมูล ส่วนโรงหล่ออีกแห่งที่ จ.พระนครศรีอยุธยา ที่หล่อพระรูปสมเด็จพระนเรศวรมหาราชและพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 ภายในโรงหล่อยังมีพระรูปหล่อจำลองของพระมหากษัตริย์ทั้งสองพระองค์ นายถวัลย์ เมืองช้าง เจ้าของโรงหล่อเอเชียไฟอาร์ท จำกัด ให้ข้อมูลว่าได้รับการประสานงานจากสำนักงานช่างสิบหมู่ กรมศิลปากรและกองทัพบกให้หล่อพระรูปในราคาพระองค์ละ 45 ล้านบาท โดยยอมรับว่า รู้จักเซียนพระที่เป็นผู้ประสานงาน แต่ไม่มีการจ่ายเงินค่าหัวคิว

ต่อมาทีมข่าวสัมภาษณ์ผู้ประกอบการโรงหล่ออีกแห่งหนึ่งทางโทรศัพท์ได้ข้อมูลขัดแย้งกันว่าได้จ่ายเงินค่าหัวคิวให้กับเซียนพระคนหนึ่งเป็นเงิน 10% ของค่าจ้างให้หล่อพระรูป สอดคล้องกับข้อมูลของพนักงานสืบสวนสอบสวนคดีหมิ่นเบื้องสูงที่เชิญเจ้าของโรงหล่อที่ร่วมหล่อพระรูปของพระมหากษัตริย์ในอุทยานราชภักดิ์มาสอบสวนก็ระบุว่าได้จ่ายเงินค่าส่วนต่างจำนวน 10% ให้กับเซียนพระที่เป็นกรรมการในโครงการอุทยานราชภักดิ์ โดยนัดหมายและประชุมกันหลายครั้งที่วัดแห่งหนึ่งใน จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งชาวบ้านในพื้นที่ให้ข้อมูลว่าเซียนพระคนนี้เป็นผู้กว้างขวางในพื้นที่ จ.พระนครศรีอยุธยา ที่นี่ถูกอ้างว่าเป็นแหล่งนัดพบของผู้ประกอบการโรงหล่อ 6 แห่งกับเซียนพระที่เป็นผู้ประสานงานในโครงการอุทยานราชภักดิ์ เมื่อทีมข่าวเข้าไปสอบถามกลับได้รับคำตอบว่าบุคคลที่ต้องการพบเดินทางไปต่างประเทศอย่างไม่มีกำหนดกลับ

อุทยานราชภักดิ์แบ่งพื้นที่ออกเป็น 3 ส่วน ส่วนแรกเป็นที่ประดิษฐานของพระบรมราชานุสาวรีย์บูรพกษัตริย์จำนวน 7 พระองค์ ส่วนที่ 2 เป็นลานอเนกประสงค์ที่ใช้สำหรับประกอบพิธีสำคัญของกองทัพ และส่วนที่ 3 เป็นอาคารพิพิธภัณฑ์หรือห้องจัดแสดงนิทรรศการประวัติศาสตร์ตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัยจนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ แต่ที่ได้รับความสนใจมากที่สุดกลับเป็นการหล่อพระรูปของพระมหากษัตริย์จำนวน 7 พระองค์ โดยเฉพาะเมื่อวันที่ 10 พ.ย.2558 พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร ประธานมูลนิธิอุทยานราชภักดิ์ ออกมายอมรับว่ามีเงินส่วนต่างเกิดขึ้นจริง แต่ได้นำไปบริจาคเพื่อก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์แล้ว

ช่วงเวลาเดียวกันชื่อของเซียนพระใน จ.พระนครศรีอยุธยา ก็ปรากฏขึ้น โดยเซียนพระคนนี้ได้รับการติดต่อจากนายทหารยศพลตรีและพันเอกเพื่อให้เป็นกรรมการจัดสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ของอุทยานราชภักดิ์ จากนั้นเซียนพระคนนี้จึงทาบทามโรงหล่อทั้ง 6 แห่งเป็นผู้หล่อพระรูป โดยใช้วิธีการจัดซื้อจัดจ้างด้วยวิธีพิเศษและมีกำหนดส่งงานภายใน 5 เดือน

แม้พล.อ.ธีรชัย นาควานิช ผู้บัญชาการทหารบกจะออกมาชี้แจงถึงการใช้เงินก่อสร้างในโครงการว่าโปร่งใสและตรวจสอบได้ พร้อมทั้งปฏิเสธว่าไม่มีการทุจริตในโครงการ แต่ก็ยังไม่สามารถลดกระแสและข้อสงสัย กระทั่งสัปดาห์ที่แล้วรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบข้อเท็จจริงอีกครั้ง ขณะที่แม้ว่ากระแสสังคมจะออกมาเรียกให้ พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะประธานมูลนิธิอุทยานราชภักดิ์ลาออกจากทุกตำแหน่ง แต่ล่าสุดก็ออกมาระบุว่าจะไม่ลาออก ต่อจากนีคงต้องรอผลการตรวจสอบจากคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงของกระทรวงกลาโหมที่แต่งตั้งโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม คาดว่าผลการตรวจสอบจะออกมาในไม่ช้าว่ามีใครเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้


ข่าวที่เกี่ยวข้อง