เหตุ “ฉีกทำลายธนบัตร” ใบละ 1,000 บาท เป็นความผิดตามกฎหมายหรือไม่
1.ข้อเท็จจริงปรากฎว่า ผู้ที๋ฉีกทำลายธนบัตรเป็นลูกชายเจ้าของร้านทอง ที่นำธนบัตรของบิดาตนเองมาฉีกทำลายเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ของบิดา มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334 แต่เนื่องจากตามมาตรา 71 วรรคสองที่บัญญัติว่า การลักทรัพย์ที่ผู้สืบสันดานกระทำต่อบุพการี แม้กฎหมายมิได้บัญญัติให้เป็นความผิดอันยอมความได้ ก็ให้เป็นความผิดอันยอมความได้ ดังนั้นการที่บิดาไม่ติดใจเอาความต่อบุตรชายที่ลักเงินของตนเอง จึงทำให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับ ทั้งนี้ พนักงานสอบสวนหรือตำรวจจึงไม่มีอำนาจดำเนินคดีกับบุตรชายร้านทองในความผิดฐานลักขโมยธนบัตรของบิดาได้
2. ความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358 นั้นกรณีที่ลูกชายเจ้าของร้านทองได้ฉีกทำลายธนบัตรของบิดา พิจารณาตามข้อเท็จจริงก็เป็นความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ได้ แต่ความผิดฐานนี้เป็นความผิดอันยอมความได้ เมื่อบิดาซึ่งเป็นผู้เสียหายไม่ติดใจเอาความพนักงานสอบสวนหรือตำรวจจึงไม่มีอำนาจดำเนินคดีได้
3. ความผิดตามกฎหมายเฉพาะคือ ความผิดตามพระราชบัญญัติเงินตรา พ.ศ. 2501 ซึ่งตามกฎหมายฉบับนี้เป็นกฎหมายเฉพาะที่เกี่ยวกับเงินตรา ตามมาตรา 6 เงินตราได้แก่ เหรียญกษาปณ์ และธนบัตร และมาตรา 9 ห้ามมิให้ผู้ใดทำ จำหน่าย ใช้ หรือนำออกให้ซึ่งวัตถุหรือเครื่องหมายใดๆ แทนเงินตรา เว้นแต่จะได้รับอนุญาติจากรัฐมนตรี และไม่มีมาตราใดของพระราชบัญญัติเงินตราที่บัญญัติว่า ผู้ใดฉีกทำลายธนบัตร ต้องระวางโทษจำคุก แต่คงมีบัญญัติไว้ในหมวด 4 บทกำหนดโทษ มาตรา 35 และมาตรา 36 ก็มิได้บัญญัติถังโทษของการฉีกทำลายธนบัตรไว้ ดังนั้นตามพระราชบัญญัติเงินตรา พ.ศ.2501 จึงไม่ได้บัญญัติถึงโทษของการฉีกทำลายธนบัตรไว้ การฉีกทำลายธนบัตรของลูกชายเจ้าของร้านทองจังหวัดชลบุรี จึงไม่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติเงินตรา พ.ศ.2501
ดังนั้นการที่ลูกชายเจ้าของร้านทองที่จังหวัดชลบุรี ฉีกธนบัตรใบละ 1,000 บาทรวมเป็นเงินกว่า 1,000,000 บาทจึงไม่ถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย
อนึ่ง กรณีตามข่าวมีคำถามว่า ผู้ที่พบเห็นธนบัตรที่ถูกฉีกขาดดังกล่าวมีสิทธิได้รับรางวัลจากเจ้าของธนบัตรที่ถูกฉีกขาดหรือไม่
กรณีนี้ต้องพิจารณาตามประมวลกฎหมายแพ่งและอาณิชย์ มาตรา 1324 ผู้เก็บได้ซึ่งทรัพย์สินเสียหายอาจเรียกร้องเอารางวัลจากบุคคลผู้มีสิทธิจะรับทรัพย์สินนั้นเป็นจำนวนร้อยละ 10 แห่งค่าทรัพย์สินภายในราคา 30,000 บาท และ ถ้าราคาสูงกว่านั้นขึ้นไปให้คิดไปอีกร้อยละ 5 ในจำนวนที่เพิ่มขึ้น แต่ถ้าผู้เก็บได้ซึ่งทรัพย์สินหายได้ส่งมอบทรัพย์สิน แก่เจ้าพนักงานตำรวจหรือพนักงานเจ้าหน้าที่อื่นให้เสียอีกร้อยละ 2.5 แห่งค่าทรัพย์สินเป็นค่าธรรมเนียมเพิ่มขึ้นเป็นส่วนหนึ่งต่างหากจากรางวัลซึ่งให้แก่ผู้เก็บได้ แต่ค่าธรรมเนียมนี้จำกัดไว้ไม่เกิน 1,000 บาท
ถ้าผู้เก็บได้ซึ่งทรัพย์สินหายมิได้ปฎิบัติตามบทบัญญัติในมาตราก่อนนั้น ผู้นั้นจะไม่มีสิทธิจะรับรางวัล
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1324 ดังกล่าว เป็นหลักกฎหมายที่ใช้ในการพิจารณาว่า ผู้เก็บทรัพย์สินหายได้มีสิทธิได้รับรางวัลเท่าไหร่ จากใคร แต่ในกรณีเรืองธนบัตรที่ถูกฉีกขาดนั้น ในเบื้องต้นต้องพิจารณาก่อนว่า ธนบัตรนั้นเป็นทรัพย์สินหรือไม่ ซึ่งในเรื่องธนบัตรชำรุดนั้น ต้องพิจารณาตามพระราชบัญญัติเงินตรา พ.ศ. 2501
มาตรา 18 ธนบัตรชำรุดไม่เป็นเงินที่ชำระหนี้ได้ตามกฎหมายซึ่งธนบัตรรูปแบบต่อไปนี้ถือเป็นธนบัตรชำรุด
1.ธนบัตรครึ่งฉบับ คือ ครึ่งหนึ่งของธนบัตรซึ่งถูกแยกตรงกลาง หรือใกล้กับกลางเป็นสองส่วนตามยืน
2.ธนบัตรต่อท่อนผิด คือ ธยบัตรซึ่งมีส่วนของธนบัตรฉบับอื่นมาต่อเข้าเป็นฉบับเดียวกัน
3.ธนบัตรขาดวิ่นหรือลบเลือน คือ ธนบัตรซึ่งส่วนหนึ่งขาดหาย หรือมึเหตุที่มำให้อ่านข้อความ หรือตัวเลขไม่ได้ความ
มาตรา 19 ให้ธนาคารแห่งประเทศไทยรับแลกเปลี่ยนธยบัตรชำรุดตามข้อจำกัดหลักเหณฑ์ และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง
กรณีตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น และเป็นข่าวนั้น ธนบัตรถูกฉีกขาดจนไม่สามารถนำมาต่อกันได้ จึงเป็นธนบัตรชำรุด ตามมาตรา 18 บัญญัติว่าไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย นอกจากนำธนบัตรที่ถูกฉีกขาดดังกล่าวไปแลกเปลี่ยนที๋ธนาคารแห่งประเทศไทย ว่าจะแลกได้เป็นเงินเท่าไหร่ แล้วค่อยพิจารณาให้รางวัลแก่ผู้พบเห็น หรือเก็บธนบัตรชำรุดดังกล่าวได้