กรมสรรพากรเก็บภาษีมรดกเกิน 100 ล้าน เริ่ม ก.พ.59
วันนี้(3 ธ.ค.2558) กรมสรรพากร เตรียมเสนอพ.ร.บ.ภาษีมรดกต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณาและเห็นชอบ ซึ่งจะช่วยให้กฎหมายภาษีมรดกมีความสมบูรณ์เพิ่มขึ้นโดยจะมีทั้งประกาศกรม ประกาศกระทรวง และพระราชกฤษฎีกาซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับวิธีการยื่นภาษี แบบแสดงรายการภาษีรวมถึงการตั้งทีมขึ้นมาดูแลภาษีมรดกเป็นการเฉพาะ เพราะการเสียภาษีนั้นจะสามารถยื่นแบบได้ทั่วประเทศรวมถึงการยื่นภาษีทางอินเทอร์เน็ตแล้วส่งมาให้สรรพากรส่วนกลางในการประเมินภาษี
สำหรับสาระสำคัญของการเก็บภาษีจากผู้รับมรดกจะเก็บจากผู้รับในอัตราร้อยละ 5 ในส่วนที่ได้รับเกิน 100 ล้านบาทและผู้รับเป็นผู้สืบสันดานโดยตรงและเก็บในอัตราร้อยละ 10 ในส่วนที่ได้รับเกิน 100 ล้านบาทหากผู้รับไม่ได้เป็นผู้สืบสันดานโดยตรง โดยการโอนทรัพย์ที่จะถูกเก็บภาษีมรดกมี 5 ประเภท ประกอบด้วย เงินฝาก หุ้น อสังหาริมทรัพย์ รถยนต์ และตราสารทางการเงิน
อย่างไรก็ตามพ.ร.บ.ภาษีการรับมรดก จะไม่ใช้บังคับกับมรดกที่เจ้ามรดกเสียชีวิตก่อนวันที่พ.ร.บ.นี้ใช้บังคับ และมรดกที่คู่สมรสของเจ้ามรดกได้รับจากเจ้ามรดก รวมทั้งบุคคลผู้ได้รับมรดกที่เจ้ามรดกแสดงเจตนาหรือเห็นได้ว่ามีความประสงค์ให้ใช้มรดกนั้นเพื่อประโยชน์ในกิจการศาสนา กิจการศึกษาหรือกิจการสาธารณประโยชน์หรือหน่วยงานของรัฐและนิติบุคคลที่มีวัตถุประสงค์เพื่อกิจการศาสนา กิจการศึกษาหรือกิจการสาธารณประโยชน์
นอกจากภาครัฐได้มีการกำหนดใช้มาตรการการจัดเก็บภาษีการรับมรดกแล้ว เพื่อเป็นการป้องกันการหลีกเลี่ยงการเสียภาษีของผู้มีหน้าที่เสียภาษีโดยวิธีการโอนเปลี่ยนมือกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินในขณะที่ผู้โอนยังมีชีวิตอยู่ไปให้บุคคลอื่น ยังได้มีการออกกฎหมายเพื่อจัดเก็บภาษีจากการรับการให้ ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ก.พ.2559 ด้วยเช่นกัน
ทั้งนี้ สาระสำคัญก็คือผู้มีเงินได้จากการโอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในอสังหาริมทรัพย์โดยไม่มีค่าตอบแทนจะต้องเสียภาษีในอัตราร้อยละ 5 ของเงินได้ส่วนที่เกิน 20 ล้านบาท หรือในกรณีเงินได้ที่ได้รับจากการอุปการะหรือจากการให้โดยเสน่หาจากบุพการีผู้สืบสันดานหรือคู่สมรส จะต้องเสียภาษีในอัตราร้อยละ 5 ของเงินได้ส่วนที่เกิน 20 ล้านบาท หรือในกรณีเงินได้ที่ได้รับจากการอุปการะหรือจากการให้โดยเสน่หาจากบุคคลอื่นจะต้องเสียภาษีในอัตราร้อยล 5 ของเงินได้ส่วนที่เกิน 10 ล้านบาท